นโยบายพรรคการเมือง :: พ.ร.บ. สภาองค์กร ใช้ไปก่อนได้ หรือต้องแก้ใหม่ทั้งฉบับ?

Partylist 2

นโยบายพรรคการเมือง กับ การสนับสนุนสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างเป็นรูปธรรม’ สนับสนุนอย่างไร กฎหมายฉบับนี้ใช้ได้ไหม หรืออะไรคือทางออกที่ดีกว่า?

หลังจากที่เมื่อวานเราได้ทราบ นโยบายภาพรวมเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ของแต่ละพรรคไปแล้ว (อ่านข่าว ‘ชวนดู...นโยบายพรรคการเมืองกับการคุ้มครองผู้บริโภค’) วันนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากจะนำเสนออีกหนึ่งประเด็นคำถามที่น่าสนใจ จาก เวทีเสวนาพรรคการเมือง ในหัวข้อ “พรรคการเมืองกับการคุ้มครองผู้บริโภค: คุ้มครองผู้บริโภคจริงหรือไม่?” นั่นก็คือคำถามที่ว่า แต่ละพรรคการเมือง ‘มีการสนับสนุนสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นรูปธรรมอย่างไร’

info laws partylist 2
        นายเกียรติ สิทธีอมร ที่ปรึกษาและผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากที่ได้ศึกษา พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค แล้ว พรรคมองว่ากฎหมายดังกล่าวควรนำกลับมารื้อ และทบทวนใหม่ เนื่องจากเหตุผล 3 ประการ คือ (1) กฎหมายนี้ไม่ตอบโจทย์ และไม่น่าจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ รวมทั้งภาคีเครือข่ายผู้บริโภค เพราะเน้นแค่เรื่องการจัดตั้งสภาองค์กรฯ และเขียนบทบาทของสภาองค์กรฯ ไว้อ่อนมาก คือเป็นผู้สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ และเป็นตัวแทนในเรื่องการไกล่เกลี่ยเท่านั้น แต่พรรคมองว่าภาคประชาสังคมควรได้ทำงานอย่างอิสระและต้องสามารถถ่วงดุลย์อำนาจของภาครัฐได้ในกรณีที่เกิดการกระทำความผิดบกพร่องต่อหน้าที่

         (2) ทุกวันนี้เทคโนโลยีพัฒนา การซื้อขายสินค้าก็ข้ามพรหมแดน และผู้ประกอบการจำนวนมากมีช่องทางการจำหน่ายอยู่บนโลกออนไลน์ แต่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวไม่ได้เขียนถึงเรื่องต่างประเทศเลย แค่เฉพาะในกรอบของอาเซียนเองก็ทำงานในเรื่องนี้ไปไกลพอสมควร ทั้งเรื่องการปรับปรุงกฎหมายของทุกประเทศให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เรื่องความปลอดภัยของสินค้าและข้อมูลส่วนบุคคลในการใช้บริการอีคอมเมิร์ซ การเพิ่มขีดความสามารถของแต่ละประเทศ โดยมีกรอบปฏิบัติการตั้งแต่ปี 2016-2025 ที่สำคัญคือ ปีนี้เป็นปีที่ไทยได้รับสิทธิเป็นประธานอาเซียน เราจึงจำเป็นต้องผลักดันเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกลไกการร้องเรียน การตรวจสอบข้ามพรหมแดนให้มีมาตรฐานและแนวปฏิบัติเดียวกันกับประเทศในอาเซียน

        ขณะที่ นางสาวจินตนา ศรีนุเดช ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดกาฬสินธุ์ เลข 3 พรรคสามัญชน ระบุว่า ในฐานะของผู้ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ ทราบดีว่ากฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงจากร่างแรกไปค่อนข้างมาก มีเนื้อหาที่ยังไม่เป็นไปตามที่ภาคประชาชนต้องการในหลายประเด็น แต่เบื้องต้นมองว่า เราสามารถนำกฎหมายฉบับนี้ยังไปสนับสนุนการทำงานขององค์กรผู้บริโภค เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าผู้บริโภคในชนบทหลายพื้นที่ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจ และเข้าไม่ถึงสิทธิของตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่พรรคจึงจะสนับสนุนให้สภาองค์กรฯ ทำหน้าที่รณรงค์สื่อสารกับผู้บริโภคในทุกจังหวัดเพื่อให้เขารับรู้ เข้าใจ สามารถเข้าถึงสิทธิที่ตัวเองมี และรู้ว่ากฎหมายผู้บริโภคเป็นประโยชน์กับทุกคนอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ พรรคยืนยังที่จะผลักดันให้ สภาองค์กรฯ สามารถทำงานได้โดยอิสระ แม้จะได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล แต่ต้องสามารถตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ หรือภาคธุรกิจต่างๆ ได้ และหลังจากใช้กฎหมายแล้วพบว่ามีปัญหาหรือช่องโหว่ สภาองค์กรฯ ต้องรับฟังความคิดเห็นเพื่อพัฒนาปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้นและสามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

        ด้าน นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียร ผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดนนทบุรี เขต3 พรรคอนาคตใหม่ แสดงความเห็นว่า พรรคยังมองว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีปัญหาตั้งแต่แหล่งที่มา ขั้นตอนการยกร่าง รวมถึงการมีส่วนร่วม ดังนั้น เมื่อพรรคอนาคตใหม่มีนโยบายในการปรับแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ กฎหมายเรื่องสิทธิของผู้บริโภคจึงต้องถูกปรับแก้ด้วย โดยเป้าหมายอย่างหนึ่งของพรรคคือการนำสิทธิขององค์กรผู้บริโภคที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย คือตัวแทนผู้บริโภคจะต้องมีอำนาจในการให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

          ส่วนประเด็นเรื่อง พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองคค์กรฯ เมื่อออกมาแล้ว ส่วนตัวคิดว่าควรดำเนินการใช้เพื่อให้มีการดำเนินงานช่วยเหลิผู้บริโภคในด้านต่างๆ ไปก่อน และหลังจากมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็ต้องดำเนินการปรับแก้กฎหมายฉบับนี้ด้วย นอกจากนี้ ควรมีการปรับเรื่องสิทธิผู้บริโภคของไทยให้ทัดเทียมกับของสากล คือสิทธิเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในสิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น ทั้งนี้ พรรคขอยืนยันว่า สิทธิของผู้บริโภค ต้องเป็นของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
        นายอรัญ พันธุมจินดา ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคชาติพัฒนามองว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้อาจจะยังไม่สมบูรณ์พอที่จะนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างเต็มที่ แต่เบื้องต้นถ้ามีการเริ่มใช้แล้วเกิดปัญหาหรืออุปสรรค หรือเกิดความไม่สมบูรณ์ในการนำไปปฏิบัติ พรรคก็จะนำกฎหมายดังกบล่าวกลับมาทบทวน โดยฟังเสียงจากประชาชน องค์กรผู้บริโภค และสภาองค์กรฯ ก่อนจะดำเนินการแก้ไข เพื่อพัฒนากฎหมายฉบับนี้ให้มีการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยืนยันว่ากฎหมายใดๆ ที่มีขึ้นเพื่อให้ภาคประชาชนเข้มแข็ง พรรคเห็นด้วยและจะช่วยผลักดันให้สามารถนำมาใช้ได้จริง

          ขณะที่ นางสาวธณิกานต์  พรพงษาโรจน์ กรรมการบริหาร และผู้สมัคร ส.ส. จังหวัดกรุงเทพฯ เขต 7 พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า เห็นด้วยที่ต้องมีการคุ้มครองดูแลผู้บริโภคให้เป็นรูปธรรมในเชิงระดับนโยบาย และมองว่าการมี พ.ร.บ. สภาองค์กรฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่ทำให้มี สภาองค์กรฯ เกิดขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มใช้กฎหมายไปสักระยะ เราจะทราบว่ามีปัญหาตรงตุดไหน เรื่องอะไร และต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ซึ่งหากพรรคเป็นรัฐบาลก็จะมีการปรับแก้ให้เข้ากับยุคสมัย และมีความเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น นอกจากนี้ พรรคอยากผลักดันให้เกิดสภาฯ ในระดับจังหวัด เพราะเชื่อในแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ชุมชนดูแลชุมชน เพราะประชาชนทุกคนคือผู้บริโภค ดังนั้นผู้บริโภคจึงกระจายตัวอยู่ในทุกภาคของประเทศ การมีสภาฯ ย่อยๆ คอยรับฟังความคิดเห็นหรือปัญหา แล้วนำเรื่องมาสู่ส่วนกลางเพื่อออกนโยบายจะทำให้สามารถแก้ปัญหาอย่างตรงจุด

        ทางด้าน นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความเห็นด้วยว่า กฎหมายสภาองค์กรฯ นั้นยังมีความไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ประเด็นหนึ่งที่รัฐต้องทำ คือส่งเสริมให้มีองค์กรเอกชนมากขึ้น อย่างที่ได้เกริ่นไปในนโยบายภาพรวม เพราะปัจจุบันผู้บริโภคก็มีสิทธิอยู่มากพอสมควร แต่มีรายละเอียดของเยอะจนผู้บริโภคไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง ประเด็นที่สอง คือเรื่องการอุดหนุนของรัฐ ซึ่งในกฎหมายเขียนไว้ว่าองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีสิทธิ์ได้รับการอุดหนุน เพียงแต่รัฐอาจยังไม่ทำอย่างจริงจัง หรืออาจจะมีการอุดหนุนแต่ไม่เพียงพอ อีกประเด็นหนึ่ง คือ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัดหลายคนยังไม่ทราบว่า สามารถไปร้องเรียนที่หน่วยงานอื่นๆ นอกจากสคบ. ได้ เช่น ศาลคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอยู่ในศาลจังหวัดแผนกคดีแพ่ง

          ดังนั้น บทบาทสำคัญของภาคเอกชนในปัจจุบัน นอกจากนะช่วยแก้ปัญหา รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ แล้ว อาจจะต้องช่วยดำเนินการแจ้งสิทธิ ให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนด้วย เพราะจำนวนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอย่าง สคบ. ก็อาจจะไม่เพียงพอและดำเนินการได้ไม่ทันท่วงที ทั้งนี้ มีตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคที่สามารถทำได้ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐบางส่วนทำเอง เช่น โรงแรมสีเขียว เรามีโรงพยาบาลสีเขียว ซึ่งทำโดยกรมควบคุมมลพิษกับสมาคมเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิผู้บริโภคสากล โดยที่ไม่จำเป็นต้องมารแก้กฎหมายด้วยซ้ำ

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ, สมัชชาผู้บริโภค2562, สภาองค์กรของผู้บริโภค, การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน