ประเด็นการคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ของภาคประชาชน

581104 medical
สรุปประเด็นการคัดค้านการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ของภาคประชาชน, 2 ตุลาคม 2560



1. ความไม่สมดุลของคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ….
​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่..) พ.ศ…. เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 โดยมี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน และมีกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นเลขานุการ มีหน้าที่พิจารณาแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 จากทั้งหมด 27 ท่าน แต่มีผู้แทนภาคประชาชนเพียง 2 ท่านคือ คุณสุรีรัตน์ ตรีมรรคา และคุณยุพดี ศิริสินสุข

2. ข้อคัดค้านในด้านสาระสำคัญการแก้ไขกฎหมาย
2.1 มาตรา 3
1. นิยามคำว่า “บริการสาธารณสุข”​
นิยามในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
“บริการสาธารณสุข”​หมายความว่า​บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคล
เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟู
สมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและ
การแพทย์ทางเลือกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ

นิยามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ขอแก้ไขใหม่
“บริการสาธารณสุข”หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้แก่บุคคล
เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟู
สมรรถภาพ ที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ทั้งนี้หมายความรวมถึงการสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขด้วย
ประเด็นคัดค้าน นิยามเดิมให้ความสำคัญกับการครอบคลุมบริการการแพทย์แผนไทยและ
การแพทย์ทางเลือก ตามที่เป็นนโยบายสำคัญของประเทศในเรื่องการพึ่งตนเอง และ ลดค่าใช้จ่ายได้

2. นิยามคำว่า “สถานบริการ”
นิยามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ขอแก้ไขใหม่
“สถานบริการ”​หมายความว่า​สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ของเอกชน และของสภากาชาดไทย
หน่วยบริการการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ และสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามที่คณะกรรมการกำหนดด้วย

นิยามที่ภาคประชาชนขอแก้ไขใหม่
“สถานบริการ”​หมายความว่า​สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ของเอกชน และของสภากาชาดไทย
หน่วยบริการการประกอบวิชาชีพและการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ และสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐ องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันและควบคุมโรค ตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม
ประเด็นคัดค้าน ในการให้บริการที่สนับสนุนส่งเสริมการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับประชาชนในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เข้าถึงยาก จำเป็นต้องให้องค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมในการทำหน้าที่เพื่อเติมเต็มการทำงานของหน่วยบริการภาครัฐที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงกลุ่มเปราะบางเหล่านี้

​นอกจากนี้ “หลักการ” ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สำคัญ นอกจากมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการบริการรักษาอย่างมีมาตรฐานแล้ว ยังมุ่งเน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่วมให้บริการสาธารณสุขโดยประชาชน ประชาสังคม องค์กรสาธารณะ รวมทั้งองค์กรท้องถิ่น

3. นิยามคำว่า “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
นิยามที่คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ขอแก้ไขใหม่
“เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หมายถึงเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการตามมาตรา 46 รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 47 และ มาตรา 47/1
ประเด็นคัดค้าน

เนื่องจากการกำหนดนิยามคำนี้ จะเป็นการขัดกับวัตถุประสงค์ของกองทุนที่ระบุในมาตรา 38 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545 ซึ่งให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพไปใช้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

หมวด 4
กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
มาตรา 38 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกว่า
“กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ
เพื่อเป็นการส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพให้ใช้จ่ายเงินกองทุนโดยคำนึงถึงการพัฒนาการบริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการเพียงพอหรือมีการกระจายหน่วยบริการอย่างไม่เหมาะสมประกอบด้วย

2.2 มาตรา 5
มาตรา​5 บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้
คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตรา
ที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ
ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ
ประกาศกำหนดข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ คงเนื้อหาในมาตรา 5 เดิม

ข้อเสนอที่ภาคประชาชนขอแก้ไขใหม่
มาตรา​5 บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้ให้หมายรวมถึง บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิคนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ
คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ
ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ
ประกาศกำหนด

เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชนคือ
1. เพิ่มผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ให้รวมถึงคนไทยในสถานภาพต่างๆ ได้แก่ คนไทยที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ เพื่อให้คนเหล่านี้มีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ตามหลักการของพ.ร.บ.ฉบับนี้
2, ตัดวรรคสองออกทั้งวรรค เนื่องจากหากคงไว้ จะส่งผลให้เกิดการเก็บเงินประชาชนผู้มารับบริการ “ร่วมจ่าย” ในแต่ละครั้งที่เข้ารับการบริการ ซึ่งจะกระทบต่อการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยได้ดังเหตุผลต่อไปนี้
2.1 ไม่สนับสนุนให้มีการเก็บเงินร่วมจ่ายในแต่ละครั้งที่ไปเข้ารับบริการ เพราะจะเป็นอุปสรรคด้านการเงินต่อการเข้าถึงบริการ
2.2 ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหลายมาตรฐานก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยบริการและผู้มารับบริการ
2.3 สร้างให้เกิดระบบการตรวจสอบเศรษฐานะของบุคคล และสถานะของบุคคล ทำให้ลดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

2.3 มาตรา 9, 10
ข้อเสนอที่ภาคประชาชนขอแก้ไขใหม่
ที่ผ่านมาในบทเฉพาะกาลในมาตรา 66 มีเจตนารมณ์ให้ประชาชนทุกคนเข้ามาร่วมในการรับบริการตามพระราชบัญญตินี้ ภายใน 1 ปี แต่เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้จริงตามเจตนารมณ์ดังกล่าว จึงควรให้มีการปรับแก้สาระของมาตรา 9, 10 เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และยืนยันสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพที่ทุกคนจะได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในการรับบริการสุขภาพของประชาชน และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการกองทุนร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุข 20 ปี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสาธารณสุข

“มาตรา 66 ให้ตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 และมาตรา 10 ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่
พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และหากไม่แล้วเสร็จให้ขยายระยะเวลาได้ครั้งละหนึ่งปี โดยให้สำนักงาน
หรือสำนักงานและสำนักงานประกันสังคม แล้วแต่กรณี รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อ
คณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และจัดให้มีการเผยแพร่รายงานนั้นต่อสาธารณชน”

มาตรา 9 ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคคลดังต่อไปนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายกฎ ระเบียบ ประกาศ มติคณะรัฐมนตรีหรือคำสั่งใด ๆ ที่กำหนดขึ้นสำหรับส่วนราชการ องค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และบุคคลดังต่อไปนี้ให้ใช้สิทธิดังกล่าวตามพระราชบัญญัตินี้
(1)ข้าราชการหรือลูกจ้างของส่วนราชการ
(2)พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(3)พนักงานหรือลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้ซึ่งปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานอื่นของรัฐหรือบุคคลอื่นใดที่มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลโดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ
(4)บิดามารดา คู่สมรส บุตร หรือบุคคลอื่นใดที่ได้รับสวัสดิการการรักษาพยาบาลโดยอาศัยสิทธิของบุคคลตาม (1) (2) หรือ (3)
ในการนี้ ให้คณะกรรมการมีหน้าที่จัดการให้บุคคลดังกล่าวสามารถได้รับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ตามที่ได้ตกลงกันกับรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐแล้วแต่กรณี

การกำหนดให้บุคคลตามวรรคหนึ่งประเภทใด หรือหน่วยงานใด ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ได้เมื่อใดให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยโดยให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาภายในหนึ่งปีหลังจากพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้
เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสามใช้บังคับแล้ว ให้รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ แล้วแต่กรณี ดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรับบริการสาธารณสุขสำหรับบุคคลตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกานั้นให้แก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดตกลงกับคณะกรรมการ

มาตรา​10​ขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของให้ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมมาใช้สิทธิตามพระราชบัญญัตินี้โดยให้ประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกาภายในหนึ่งปีหลังจากพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม การขยายบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน

เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับแล้ว ให้คณะกรรมการมีหน้าที่จัดการให้บุคคลดังกล่าวสามารถได้รับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัตินี้ และให้รัฐบาล ดำเนินการจัดสรรเงินในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรับบริการสาธารณสุขสำหรับบุคคลตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกานั้นให้แก่กองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดให้คณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมในการให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และเมื่อได้ตกลงกันเกี่ยวกับความพร้อมให้บริการสาธารณสุขกับคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ให้คณะกรรมการเสนอรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตามพระราชบัญญัตินี้แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว
เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาตามวรรคสองใช้บังคับแล้ว ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่าย
เพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุนตามจำนวนที่คณะกรรมการและคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน
ให้สำนักงานประกันสังคมยุติเก็บเงินสมทบสำหรับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาล และให้ดำเนินการโอนย้ายผู้ประกันตนมาอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ประกันตน

2.4 มาตรา 13 องค์ประกอบคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการหลักประกันสุขภาพฯดังนี้
“(5)​ผู้แทนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 2 คนให้คัดเลือกกันเอง”
ประเด็นคัดค้าน
หากต้องการให้คงหลักการแยกบทบาท (Purchaser-Provider Split) ของผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ผู้ให้บริการ (Provider) ที่ระบุในเหตุผลของการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ซึ่งถือว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯทำหน้าที่เป็น ผู้ซื้อบริการ จึงไม่ควรมีส่วนของผู้ให้บริการมาร่วมในการตัดสินใจเกินกว่าสัดส่วนกรรมการด้านอื่นจนขาดสมดุล เนื่องจากจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ทั้งนี้ควรตัดผู้แทนสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกด้วยเช่นกัน

​2.5 มาตรา 18 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อเสนอภาคประชาชน ให้มีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ดังนี้
(4/1) กำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่มีความจำเป็น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการและประสิทธิภาพในการบริหารเงินกองทุน
เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชนคือ
​เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดซื้อยาฯ ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานเชิงประจักษ์ว่าในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นสามารถประหยัดงบประมาณได้เป็นมูลค่าสูงมากมาโดยตลอด ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ และมีการบันทึกในข้อสังเกตของการประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ...ของสภาผู้แทนราษฎรที่รับรองข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ... ที่นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในข้อที่ 6 ดังนี้

หมายเหตุ: ในการยกร่างมาตรา 20 ในขณะนั้นคือมาตราที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันคือมาตรา 18

2.6 มาตรา 26 อำนาจหน้าที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อเสนอภาคประชาชน เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเพื่อเพิ่มธรรมาภิบาลในระบบตามเหตุผลที่ระบุในการแก้ไขพ.ร.บ.นี้ ที่ผ่านมาไม่มีข้อกำหนดในกฎหมายรองรับการทำงานด้านการตรวจสอบของสำนักงานเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินอย่างถูกต้อง และสุจริต มีการพบว่าหน่วยบริการที่มีการเรียกเก็บเงินจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยไม่ชอบ หรือ โกงการเบิกค่าใช้จ่าย แต่คณะกรรมการและ สปสช.ไม่มีอำนาจในการลงโทษทางปกครองได้ จึงจำเป็นต้องมีข้อกฎหมายให้อำนาจ โดยเสนอให้แก้อำนาจหน้าที่ตาม (6) ดังนี้

(6)​ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการรวมทั้งการเรียกเอกสารประกอบการเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขเพื่อการตรวจสอบตามรูปแบบที่สำนักงานกำหนดหากตรวจพบว่า หน่วยบริการใดจงใจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเกินจริงหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นเหตุให้สำนักงานต้องจ่ายค่าใช้จ่ายแก่หน่วยบริการมากเกินควรแก่กรณีให้สำนักงานเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อดำเนินการตามมาตรา 18 (11)

2.7 มาตรา 41 เพิ่มเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ
ข้อเสนอภาคประชาชน
“มาตรา 41 ให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินเยียวยาความเสียหายดังกล่าวให้จ่ายได้โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ความรับผิดก่อน และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชน

เงินช่วยเหลือเบื้องต้นจะไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาของผู้รับบริการหรือผู้ให้บริการในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ จึงจำเป็นต้องเพิ่มเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้รับบริการและผู้ให้บริการ

2.8 มาตรา 46 การจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยบริการ
ข้อเสนอภาคประชาชน ปรับแก้สาระของกฎหมายดังนี้
มาตรา​46​หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตามมาตรา 44 และหน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้รับบริการ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในรูปตัวเงิน ยาและเวชภัณฑ์ วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

หลักเกณฑ์การกำหนดค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 18 (13) ก่อน และอย่างน้อยต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1)​อาศัยราคากลางที่เป็นจริงของโรคทุกโรคมาเป็นฐานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานตามมาตรา 50(4)
(2)​ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร
(3)​คำนึงถึงความแตกต่างในภารกิจของหน่วยบริการ
(4)​คำนึงถึงความแตกต่างในกลุ่มผู้รับบริการและในขนาดของพื้นที่บริการที่หน่วยบริการรับผิดชอบ

เหตุผลของข้อเสนอภาคประชาชน
1. เพื่อให้การบริหารกองทุนโดยสปสช.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นร่วมกันทั้งประเทศ ซึ่งจะเป็นการประหยัดงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด และลดความเสี่ยงต่อการเข้าถึงยาและเวชภัณฑ์วัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประชาชนจึงควรกำหนดให้การชดเชยค่าบริการสาธารณสุขอยู่ในรูปแบบต่างๆนอกจากตัวเงิน ซึ่งได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่ข้อกำหนดยังไม่ชัดเจน จึงเสนอเพิ่มข้อความในวรรค 1

2. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขร่างที่เสนอโดยคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ในกรณี มาตรา 46 (2) ดังนี้
(2) ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ทั้งนี้ ให้แยกเงินค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรส่วนที่จ่ายจากเงินงบประมาณของหน่วยบริการภาครัฐ ออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการจัดทำคำของบประมาณและในการบริหารงบขาลง”
​เนื่องจากการแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จะมีผลกระทบต่อการกระจายบุคลากร เนื่องจากการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จะทำให้การจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรไปยังหน่วยบริการไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากรที่หน่วยบริการต้องให้บริการ ดังนั้นในการแก้ไขมาตรานี้มีนัยยะสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในด้านการเข้าถึงบริการ หากบุคลากรไม่เพียงพอ ดังนั้นหากจำเป็นต้องมีการแก้ไขในประเด็นนี้ จำเป็นต้องมีการศึกษาด้านวิชาการ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณามาตรานี้ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ เนื่องจากการแก้กฎหมายจะส่งผลต่อการปฏิบัติในระยะยาว

2.9 มาตรา 47/1 การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร จากกองทุนหลักประกันสุขภาพข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ
มาตรา 47/1 องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร ให้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข จากหน่วยบริการหรือจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
ในกรณีที่องค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการแสวงหาผลกำไร มีความจำเป็นที่จะรับเงินโดยตรงจากกองทุน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ก่อนการออกประกาศดังกล่าวจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
การับเงินขององค์กรชุมชน องค์กรเอกชนและภาคเอกชนโดยตรงจากกองทุนตามวรรคสอง ให้เปิดเผยข้อมูลการรับเงินดังกล่าวต่อสาธารณะด้วย
ประเด็นคัดค้าน

​การกำหนดให้การออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข โดย รัฐมนตรีรวมทั้งกำหนดให้มีการเพิ่มขั้นตอนก่อนการออกประกาศดังกล่าวจะต้องมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นการใช้อำนาจที่ขัดกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ และถือว่าเป็นการแทรกแซงของผู้ให้บริการ (Provider) ต่อการทำหน้าที่ของผู้ซื้อบริการ ขัดกับหลักกการที่ระบุไว้ในเหตุผลของการแก้ไขกฎหมายคือ “หลักการแยกบทบาท (Purchaser-Provider Split) ของผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ผู้ให้บริการ (Provider)

2.10 มาตรา 47/2 การกำหนดหน้าที่การจัดหายา เวชภัณฑ์อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่หน่วยบริการ
ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ
“มาตรา 47/2 เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข และส่งเสริมให้บุคคลสามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการจัดหายา เวชภัณฑ์ อวัยวะเทียม หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่หน่วยบริการได้ ทั้งนี้ ตามรายการที่ได้รับความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ประเด็นคัดค้าน
1. ในขณะที่การดำเนินการจัดหายาฯ ภายใต้ สปสช. มีผลงานเชิงประจักษ์ในด้านการประหยัดงบประมาณหลายหมื่นล้านบาท โครงสร้างการทำงานชัดเจน มีประสบการณ์ดำเนินงานมากกว่า 10 ปี แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ทักท้วงว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่มีอำนาจการจัดซื้อยาร่วม การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือการเพิ่มอำนาจคณะกรรมการหลักประกันฯ ตามข้อเสนอที่ 2.5 ในเอกสารนี้ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
2. ในปัจจุบันมีการถ่ายโอนอำนาจการจัดหาและซื้อยาฯ จากสปสช. ไปยังเครือข่ายหน่วยบริการคือโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งความสัมฤทธิผลยังไม่เป็นที่แน่ชัด การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ในการจัดซื้อยาไปยังหน่วยงานที่ไม่มีประสบการณ์ ย่อมมีความเสี่ยงต่อปัญหาคนไข้ขาดยาจำเป็นได้ ส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ป่วย และการสิ้นเปลืองงบประมาณประเทศ นอกจากนี้ในข้อกฎหมายนี้ มีเจตนาจะโอนความรับผิดชอบจัดหายาฯ ดูจากมีการกำหนดให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายจากกองทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานอื่น ไม่ใช่หน่วยบริการ และไม่เคยมีประสบการณ์การจัดหายาฯระดับประเทศ และเคยมีคดีทุจริตยาเกิดขึ้นในอดีต ย่อมทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้นอย่างมากอีกขั้นหนึ่ง จึงสมควรกำหนดเพิ่มให้การจัดซื้อยาอยู่ภายใต้บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพฯ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2.11 มาตรา 48 จำนวนและองค์ประกอบคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
ข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ
“(5)​ผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นสมาชิกของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนหนึ่งคน และผู้แทนหน่วยบริการภาครัฐ จำนวน 2 คนให้คัดเลือกกันเอง”
ประเด็นคัดค้าน

หากต้องการให้คงหลักการแยกบทบาท (Purchaser-Provider Split) ของผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ผู้ให้บริการ (Provider) ที่ระบุในเหตุผลของการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ซึ่งถือว่า คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ ทำหน้าที่ในส่วนของ ผู้ซื้อบริการ จึงไม่ควรมีส่วนของผู้ให้บริการมาร่วมในการตัดสินใจเนื่องจากจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ในขณะที่สัดส่วนเดิมมีกรรมการฯที่มาจากตัวแทนวิชาชีพทางการแพทย์อยู่แล้ว

พิมพ์ อีเมล