ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคยื่นร้องเรียนต่อ อนุ กมธ. สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบ สปน. เรื่องปัญหาความล่าช้าการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ชี้ผ่านมากว่า 7 เดือนยังจดแจ้งไม่แล้วเสร็จ ออกประกาศสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภค
จากการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นนายทะเบียนกลางและผู้ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายในฐานะนายทะเบียนจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และได้มีการเปิดรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 หลังจากนั้น พบว่า หลายจังหวัดประสบปัญหาในการรับจดแจ้ง ทั้งแนวทางปฏิบัติของนายทะเบียนซึ่งแตกต่างกัน มีการเรียกขอเอกสารที่เกินจำเป็น ไม่ดำเนินการออกเลขที่ขอจดแจ้งให้แก่องค์กรผู้บริโภค และความไม่พร้อมของนายทะเบียนในบางจังหวัด อีกทั้งยังมีการออกแนวทางตรวจสอบความเป็นองค์กรซึ่งทำให้องค์กรผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวก และมีการสร้างขั้นตอนรับจดแจ้งที่เกินสมควร ขณะเดียวกันสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคได้หารือและยื่นข้อเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่หลายครั้งให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ผ่านมากว่า 7 เดือนก็ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2563) ที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และนางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) ในนามเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้เข้าพบนายอนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร้องเรียนปัญหาการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 และให้ตรวจสอบปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะนายทะเบียนกลางรับจดแจ้งองค์กร เนื่องจากนับแต่เริ่มรับจดแจ้ง เมื่อเดือนกรกฏาคม 2563 พบว่ามีกระบวนการรับจดแจ้งที่ล่าช้า ออกประกาศสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความกฎหมายในทำนองจำกัดสิทธิองค์กรผู้บริโภค ทำให้ปัจจุบันผ่านมากว่า 7 เดือนมีองค์กรผู้บริโภคที่รับจดแจ้งและมีการประกาศชื่อเพียง 49 องค์กรจากที่มีองค์กรยื่นจดแจ้งทั่วประเทศหลายพันองค์กร ส่งผลให้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคเกิดความล่าช้า
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวว่า ปัญหาที่พบในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านมา พบว่าหลายจังหวัดนายทะเบียนแต่ละจังหวัดมีมาตรฐานการรับจดแจ้งที่ต่างกัน ตีความการเป็นกรรมการองค์กรผู้บริโภคในทางจำกัดสิทธิ ทำให้หลายองค์กรไม่ผ่านการรับจดแจ้ง รวมถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคด้วย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีออกประกาศว่าจะพิจารณาให้เสร็จใน 60 วัน สุดท้ายก็ทำไม่เสร็จ ซ้ำยังมีการออกประกาศเพิ่มเติม ขยายเวลาออกไปอีก 60 วัน และเพิ่มอำนาจให้เชิญบุคคลมายืนยันตน ส่วนนี้ เราเห็นว่าอาจไม่ถูกต้อง ก็อยากให้ สว.ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ว่าเป็นการใช้อำนาจแก้ไขประกาศที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ส่วนเรื่องระยะเวลาจดแจ้งก็อยากให้ สว.ตรวจสอบความล่าช้าเกินกว่าปกติ เพราะขนาดจดทะเบียนขายครีมผิวขาว ยังทำได้ภายในวันเดียว จดทะเบียนบริษัทใช้เวลาไม่เกิน 7 วันก็เสร็จ แต่ทำไมองค์กรผู้บริโภคเพียงแค่มาแจ้งสถานะว่าเป็นองค์กรที่ทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคถึงใช้เวลาตรวจสอบนานหลายเดือน
“การเพิ่มอำนาจให้นายทะเบียน ทำให้องค์กรผู้บริโภคหลายจังหวัดเจอปัญหาการเชิญกรรมการทุกคนในองค์กรมายืนยันตัวตน ทั้งที่ตามกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค มาตรา 6 เขียนระบุไว้อย่างชัดเจน ว่า การจดแจ้งต้องไม่มีลักษณะการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น แต่ประกาศฉบับที่ 2 กับสร้างขั้นตอนให้กรรมการองค์กรผู้บริโภคต้องรายงานตัว และถูกสอบสวนเหมือนผู้ร้าย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างภาระเกินสมควร ทั้งยังสร้างค่าใช้จ่ายแก่องค์กรที่ยื่นจดแจ้งด้วย” นางสาวสารีกล่าว
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายก สสอบ. กล่าวว่า การทำหน้าที่ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะนายทะเบียนกลาง กับนายทะเบียนจังหวัด พบว่ามีการใช้อำนาจเกินกฎหมาย ในหลายจังหวัดนายทะเบียนจังหวัดตรวจสอบองค์กรและออกหลักฐานรับจดแจ้งไปแล้ว แต่ สปน. กลับตรวจสอบเอกสารหลักฐานซ้ำ และให้ขอให้นายทะเบียนจังหวัดกลับไปตรวจสอบใหม่อีกครั้ง ทั้งที่อำนาจในการตรวจสอบและรับจดแจ้งเป็นของนายทะเบียนจังหวัด สปน.ไม่มีสิทธิและมีหน้าที่เพียงแค่ประกาศชื่อองค์กรที่รับจดแจ้ง ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการสร้างขั้นตอนเกินสมควรทำให้เกิดความล่าช้า จึงขอให้คณะอนุกรรมาธิการช่วยดำเนินการตรวจสอบ และเชิญสปน. มาชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว
อีกประเด็นคือ ที่ผ่านมาพบว่ามีการใช้บุคคลเดียวมายื่นจดแจ้งหลายองค์กร คนกลุ่มนี้ สปน.ควรตรวจสอบอย่างเข้มงวด เนื่องจากส่อพฤติกรรมไม่สุจริต องค์กรที่มายื่นอาจมีการจัดตั้งและไม่ได้ทำงานผู้บริโภคจริง ซึ่งเห็นว่า หากตรวจสอบพบว่ามีการใช้หลักฐานเท็จยื่นจดแจ้ง ก็ขอให้ดำเนินคดีตามกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผ่านมากว่า 7 เดือน พบว่าหลายองค์กรในต่างจังหวัดที่นายทะเบียนจังหวัดได้รับจดแจ้งมีหลักฐานรับจดแจ้งแล้ว สปน.ก็ยังไม่ดำเนินการประกาศชื่อ ทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคล่าช้า เกิดความเสียหายต่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวม
“ทราบจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคมาว่า ตอนนี้มีมากกว่า 100 องค์กรที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนจังหวัดว่าผ่านการจดแจ้ง แต่ปัจจุบันมีรายชื่อองค์กรเพียง 49 องค์กรเท่านั้นที่ถูกประกาศบนเว็บไซต์ ทั้งที่ผ่านมากว่า 7 เดือนแล้ว สปน.ควรเร่งประกาศชื่อองค์กรผู้บริโภคทีรับจดแจ้งทั้งหมดโดยเร็ว ไม่ควรจะมาตรวจสอบอีก ส่วนที่ต้องไปตรวจสอบจริงจังคือกลุ่มที่ยื่นโดยใช้ชื่อบุคคลเดียวกัน ไม่ใช่กลุ่มที่นายทะเบียนจังหวัดรับจดแจ้งไปแล้ว” นางสาวบุญยืนกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดความล่าช้าในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค ส่งผลทำให้การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคล่าช้า ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์ เนื่องจากปัญหาผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกวัน สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นตัวแทนของผู้บริโภคระดับประเทศเป็นพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ดังนั้น หากมีสภาองค์กรผู้บริโภคเร็วเท่าใด ก็ย่อมสามารถป้องกันปัญหา ยุติ ยับยั้งการละเมิดสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับผู้บริโภค