เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จัดเสวนา "หมดเวลายื้อ เราต้องการสภาองค์กรผู้บริโภคเดี๋ยวนี้" พร้อมเรียกร้องสำนักงานปลักสำนักนายกรัฐมนตรี เร่งประกาศรายชื่อองค์กรที่ผ่านจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค
วันนี้ (30 มกราคม 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) และเครือข่ายผู้บริโภค ร่วมกันจัดเวทีวิชาการ "หมดเวลายื้อ เราต้องการสภาองค์กรผู้บริโภคเดี๋ยวนี้" ขึ้น ณ โรงแรมตรัง วิสุทธิกษัตริย์ เขตบางขุนพรหม กรุงเทพฯ
โดยในช่วงแรก มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค จากตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคต่างๆ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่ทุกภาคพบ คือ การคัดกรองของนายทะเบียนจังหวัดที่ไม่มีมาตรฐาน บางจังหวัดมีการเรียกขอเอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบลงทะเบียนเวลาจัดประชุม แต่บางจังหวัดไม่ต้องมีก็ได้ บางจังหวัดเรียกให้กรรมการองค์กรทั้ง 10 คนไปรายงานตัว บางจังหวัดให้ประธานองค์กรไปคนเดียว ขณะที่บางจังหวัดแค่โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มขั้นตอนการแจ้งสถานะองค์กรให้เป็นภาระแก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น เช่น เรียกขอสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการองค์กรทุกคน รวมถึงสำเนาทะเบียนบ้านและแบบแสดงผลงาน ทั้งที่ต้องใช้เอกสารดังกล่าวจำนวนหลายร้อยฉบับ ทั้งนี้ มีองค์กรผู้บริโภคหลายองค์กรที่ได้รับหลักฐานการแจ้งสถานะองค์กร (อกผ.2) แต่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยังไม่ได้การประกาศรายชื่อขึ้นบนหน้าเว็บ
ส่วนช่วงที่สอง เป็นเวทีเสวนา "หมดเวลายื้อ เราต้องการสภาองค์กรผู้บริโภคเดี๋ยวนี้" ร่วมเสวนาโดย ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน
สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ประมวลปัญหาที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ต้องเผชิญในการยื่นแจ้งสถานะความเป็นองค์กรว่า สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเด็นใหญ่ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ หนึ่ง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัดซึ่งส่วนใหญ่เป็น สคบ. ยังไม่เข้าใจกระบวนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรภาคประชาชน เช่น จากการตีความว่าเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ไม่ใช่องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค หรือการทำงานด้านสุขภาพและยาไม่ใช่การทำงานเพื่อผู้บริโภค จึงนำมาสู่การเป็นภาระให้องค์กรเหล่านี้ต้องแสดงตัวตน แสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์
สอง การตีความทางกฎหมายของ พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะในมาตรา 5 และมาตรา 6 กลายเป็นอุปสรรคในการรับรองสถานะองค์กร เช่น หากมี อสม. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. ร่วมเป็นคณะกรรมการองค์กรเพียงหนึ่งคน ก็ถูกตีความว่าถูกครอบงำโดยหน่วยงานรัฐ เป็นต้น และสาม ขั้นตอน กระบวนการทำงานมีความสับสน ไม่สามารถทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นจริง โดยเฉพาะการทำงานเชื่อมกันระหว่างนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้อธิบายถึงบทบาทและประโยชน์ของสภาองค์กรของผู้บริโภคว่า เป็นสภาฯ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค และยังทำให้กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึงมากขึ้น เนื่องจากสภาฯ สามารถจัดตั้งสภาผู้บริโภคจังหวัด หากผู้บริโภคมีความเดือดร้อนสามารถไปร้องเรียนที่สภาฯ ได้โดยตรง ไม่ต้องไปดำเนินการติดต่อหน่วยงานต่างๆ ถึง 10 หน่วยงานเหมือนอย่างเคย
สารียังกล่าวอีกว่า เนื่องจากสภาฯ มีความเป็นอิสระ จึงสามารถทำหน้าที่เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภค หรือฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ ในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงานของรัฐ อาทิเช่น กรณีราคาหน้ากากอนามัย ที่ปัจจุบันผู้บริโภคคนไทยจะต้องซื้อในราคาสูงถึงชิ้นละ 60 บาท หรือกรณีการต่อสัมปทานทางด่วนระยะที่ 2 ของรัฐ ซึ่งนอกจากจะทำให้ประเทศชาติเสียหายถึงสองแสนล้านบาทแล้ว ผู้บริโภคยังจะต้องจ่ายค่าทางด่วนเพิ่มขึ้นอีก 10 บาท ทั้งที่สัญญาสัมปทานกำลังจะหมดในวันที่ 28 ก.พ. 63 นี้ ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อหมดสัญญาผู้บริโภคควรจะได้ขึ้นทางด่วนฟรีเพราะเป็นของรัฐแล้ว แต่ผู้บริโภคก็ไม่มีตัวแทนที่จะไปเจรจาในเรื่องดังกล่าว ฉะนั้น การมีสภาองค์กรของผู้บริโภคจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างพลังอำนาจการต่อรองให้กับผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้น
ผศ.ดร. สุภาภรณ์ เกียรติสิน เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทำบทบาทหน้าที่ของเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่พยายามจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคท่ามกลางข้อติดขัดและปัญหาต่างๆ มากมาย แสดงถึงความเสียสละเพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงกลับไม่ได้แสดงออกถึงการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง แถมยังสร้างภาระเพิ่มอันเนื่องมาจากกระบวนการบริหารจัดการที่ยังใช้เครื่องมือได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ สวนทางกับนโยบาย 4.0
ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ยังได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเพราะเห็นว่ามีความสำคัญด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ ปัจจุบันมีการเอาเปรียบผู้บริโภคอยู่บ่อยครั้ง โดยจะเห็นได้จากสถิติการรับเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวนมากถึง 1,217 ราย ดังนั้น การมีสภาองค์กรของผู้บริโภคจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสภาฯ เพื่อร้องเรียนปัญหาได้โดยตรงทำให้ประหยัดเวลา ทั้งยังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า บริการต่างๆ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคด้วย
ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมายได้ให้มุมมองเกี่ยวกับกฎหมาย พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 ว่า กฎหมายฉบับนี้มีความชัดเจน กะทัดรัด ไม่ฟุ่มเฟือย อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ แต่กลับมีปัญหาในการบังคับใช้ โดยเฉพาะการตีความในมาตรา 5 ที่มีการระบุลักษณะขององค์กรของผู้บริโภคว่าจะต้องไม่ถูก “ครอบงำ” โดยหน่วยงานหรือบุคคลทั้งจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และพรรคการเมือง ซึ่งผู้บังคับใช้กฎหมายมีการตีความว่า การครอบงำคือการมีรายชื่อเป็นคณะกรรมการองค์กร ซึ่งความจริงการมีชื่อหรือไม่มีชื่อไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นการครอบงำ เพราะการครอบงำคือการมีอิทธิพลเหนือองค์กร ถึงจะไม่มีชื่ออยู่ในองค์กรก็สามารถครอบงำได้ จึงควรดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจมีสาเหตุจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่กล้าที่จะดำเนินการ หรืออีกประเด็นหนึ่งหากมองในแง่ร้ายก็อาจมีใครครอบงำอยู่หรือไม่
บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ได้สะท้อนสถานการณ์การยื่นแจ้งสถานะองค์กรในพื้นที่ว่า มีความล่าช้าในการออกหลักฐานการแจ้งสถานะองค์กร (อกผ.2) จนถึงขั้นต้องไปเข้าพบผู้ว่าฯ จึงสามารถออกเอกสารดังกล่าวได้ภายในวันเดียวหลังจากล่าช้ามากว่า 1 เดือน อีกทั้งเมื่อได้รับใบ อกผ.2 แล้ว ก็ยังมีปัญหาว่าอาจจะนำไปใช้ไม่ได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเอกสารผิดพลาด สะท้อนให้เห็นว่าระบบราชการนั้นกำลังกีดกันการเข้าถึงสิทธิของประชาชน
จากนั้น เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้แถลงข่าว พร้อมทั้งมีข้อเสนอไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 3 ข้อ ดังนี้
1. ขอให้ สปน. เร่งดำเนินการออกใบ อกผ.3 (ใบรับรองสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคที่ สปน. เป็นผู้ออก) โดยเร็ว และต้องสร้างความชัดเจนกับนายทะเบียนจังหวัด เพื่อให้การออกใบ อกผ.2 (ใบรับรองสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคที่นายทะเบียนจังหวัดเป็นผู้ออก) ของทุกๆ จังหวัดมีมาตรฐานเดียวกัน
2. ตั้งคณะทำงานร่วมในการฐานข้อมูล ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเพื่อติดตามการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคได้ โดยมีกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค ให้การสนับสนุนและมีหน่วยวิชาการร่วมตรวจสอบด้วย
3. ขอให้ยึดแผนตามปฏิทินเวลาในการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคโดยเคร่งครัด ถ้าหากไม่ดำเนินการตามปฎิทินดังกล่าว เครือข่ายผู้บริโภคจะยกระดับการเคลื่อนไหว เพื่อกดดันให้เกิด "สภาองค์กรผู้บริโภค" ในประเทศไทย ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และ พรบ.การจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน
และในช่วงบ่ายกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคได้เดินทางไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรผู้บริโภคต่อนายวิษณุ โดยมีข้อความดังต่อไปนี้