เครือข่ายผู้บริโภค จี้ สปน. เร่งประกาศองค์กรผู้บริโภคภายใน 60 วัน พร้อมเรียกร้องจัดการองค์กรผู้บริโภค ‘ผี’ หยุดสร้างภาระให้องค์กรผู้บริโภคตัวจริง
จากการที่เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เข้าพบและหารือกับนายธงชัย ลืออดุลย์ เลขารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้การดำเนินการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคเป็นไปตามกฎหมาย มีแนวทางปฏิบัติเดียวกัน รวมถึงไม่สร้างขั้นตอนให้เกิดความไม่สะดวกและองค์กรผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ และมีข้อสรุปในครั้งนั้นว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ได้เสนอมา เรื่อง กรรมการหรือสมาชิกไม่ต้องมายืนยันตัวตนทั้งหมด เนื่องจากสามารถตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่เคยถูกรับรองได้อยู่แล้ว และกรณีองค์กรผู้บริโภคที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ ไม่เป็นข้อต้องห้าม ส่วนข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น จะส่งเรื่องให้ สปน. ไปทบทวนต่อ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากข้อเรียกร้องที่เสนอไปนั้น (อ่านข่าวเพิ่มเติม - สสอบ. เรียกร้อง สปน. ยุติการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค)
วานนี้ (11 กันยายน 2562) ที่ สปน. ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เข้าพบ ผู้แทนรองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม เพื่อติดตามข้อเสนอเรื่องการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคและการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า จากการหารือครั้งที่แล้วที่ให้ สปน. ทำหนังสือแจ้งในแต่ละจังหวัด เรื่อง องค์กรผู้บริโภคที่รับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ไม่ขัดต่อกฎหมาย สามารถเข้ามาจดแจ้งฯ ได้ ในวันนี้ สปน. ได้ชี้แจงกลับมาว่าหนังสือแจ้งฯ อยู่ระหว่างรอตรวจสอบถ้อยคำ โดยจะมีการออกเป็นหนังสือเวียนเพื่อให้แต่ละจังหวัดรับทราบ และจะรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนเรื่องขอให้เปิดเผยข้อมูลขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ทั้งข้อมูลองค์กร สถานที่ตั้ง และผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้ยื่นจดแจ้งฯ สปน. ยืนยันว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างแน่นอน
อีกทั้งในเรื่องที่ สปน. ส่งหนังสือเวียนเพื่อขอขยายระยะเวลาประกาศว่าองค์กรผู้บริโภคใดผ่านหรือไม่ผ่านออกไปอีก เนื่องจาก สปน. พบความผิดปกติจำนวนมากจากองค์กรผู้บริโภคที่มายื่นจดแจ้งฯ เช่น องค์กรผู้บริโภคเหล่านั้นอาจไม่ได้เป็นองค์กรที่ไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค จึงต้องตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคทั้งหมดก่อน โดยอาจมีการเชิญกรรมการหรือสมาชิกทั้ง 10 คน เข้ามายืนยันตัวตน ซึ่งในกฎหมายระบุว่าจะต้องประกาศภายใน 60 วันนั้น จนเป็นเหตุให้การประกาศล่าช้าออกไป
นางสาวสารี กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคยังยืนยันหลักการชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับ สปน. เนื่องจากขณะนี้ก็ล่วงเลยมาถึง 2 เดือน นับแต่วันที่เปิดรับจดแจ้งฯ วันแรก (อ่านข่าวเพิ่มเติม - จดแจ้งสถานะองค์กรฯ วันแรกคึกคัก พบปัญหาเรื่องเอกสารและความไม่พร้อมของจนท. ในบางจังหวัด) องค์กรผู้บริโภคก็ยังไม่สามารถที่จะทราบผลการขึ้นทะเบียนได้เลย อีกทั้งองค์กรผู้บริโภคก็เข้ามาจดแจ้งฯ เรื่อยๆ จึงเกิดข้อสงสัยว่าจะต้องรอถึงเมื่อไร ส่วนนี้ไม่มีความชัดเจนเลย
“สปน. ควรเร่งตรวจสอบและประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคที่ไปยื่นจดแจ้งฯ ภายใน 60 วัน ไม่จำเป็นต้องรอขยายเวลาออกไป อาจประกาศเป็นระยะๆ อย่างน้อยก็อาจประกาศองค์กรผู้บริโภคที่ไปยื่นจดแจ้งฯ ตั้งแต่วันแรกๆ ของการรับจดแจ้งฯ เพื่อทำให้ทราบว่าผลการขึ้นทะเบียนเป็นอย่างไร ผ่านหรือไม่ผ่านอย่างไรบ้าง อีกทั้งที่ สปน. พบความผิดปกติขององค์กรผู้บริโภคนั้น และ สปน. อาจขอให้กรรมการหรือสมาชิกทั้งหมดต้องมายืนยันตัวตน มองว่าเป็นการสร้างความยุ่งยากเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้น สปน. ควรหาวิธีการตรวจสอบเพื่อที่จะไม่ให้เป็นภาระกับประชาชนน้อยที่สุด” นางสาวสารีกล่าวและว่า ขณะนี้ สปน. กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องการขยายเวลาประกาศดังกล่าว ดังนั้น จึงอยากฝากองค์กรผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ให้ช่วยกันไปแจ้งว่าไม่เห็นด้วย และ สปน. ก็จะไม่สามารถขยายระยะเวลาได้ ซึ่งจะทำให้ทราบจำนวนองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านหรือไม่ผ่านได้รวดเร็วขึ้น
ขณะที่นางสาวบุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคม สสอบ. กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ สปน. รับปากมั่นเหมาะ คือ จะพยายามตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีองค์กรที่ไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาได้ แต่สิ่งที่ยังมีข้อสงสัย คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าองค์ใดเป็นองค์กรที่ทำงานคุ้มครองจริง หรือ ไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งส่วนนี้คิดว่าจะต้องให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เช่น หากองค์กรที่ไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นทะเบียนที่ จ. สมุทรสงคราม และหากเป็นคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่นั้น ก็จะทราบว่าองค์กรดังกล่าวทำงานหรือไม่ได้ทำงาน ซึ่งหากองค์กรนั้นไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภคที่ทำงานจริงจะต้องสามารถคัดค้านได้ ตามที่ระบุในข้อกฎหมาย อีกทั้งการตรวจสอบอาจไม่จำเป็นต้องเชิญกรรมการมายืนยันตัวตนทั้งหมด แต่อาจใช้วิธีการตรวจสอบผลงาน ซึ่งสามารถดูเอกสารประกอบ และนอกจากที่ต้องให้หน่วยงานตรวจสอบแล้วนั้น จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้กับองค์กรผู้บริโภคที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคช่วยเป็นผู้ตรวจสอบได้อีกทาง ซึ่งจะทำให้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม และไม่ต้องขยายเวลาการประกาศออกไปอีกด้วย
“เรามองว่านายทะเบียนในแต่ละพื้นที่ก็ไม่ได้รู้จักคนทั้งหมด คนที่รู้จัก คือ ประชาชนในพื้นที่ จึงอยากฝากถึง สปน. ว่าอย่าปิดกั้นการตรวจสอบของภาคประชาชน เพราะสุดท้ายคนที่คัดค้านไม่ใช่ สปน. แต่เป็นองค์กรภาคประชาชน รวมถึงยังอยากเห็นการจัดการกับองค์กรที่ไม่ได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคว่าจะมีการจัดการได้อย่างไรเพื่อไม่เกิดองค์กรที่แฝงตัวเข้ามาในลักษณะนี้” นางสาวบุญยืนกล่าว
ด้านนายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการ มพบ. กล่าวว่า ในกรณีที่มีกรรมการขององค์กรผู้บริโภคที่มาจากหน่วยงานรัฐจะไม่สามารถจดแจ้งฯ ได้ ส่วนนี้มองว่าควรดูวิธีการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคมากกว่าตัวบุคคล และความเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ น่าจะหมายถึง องค์กรผู้บริโภคนั้นไม่ได้ถูกจัดตั้งโดยกลุ่มของหน่วยงานรัฐ เช่น ไม่ได้เป็นกลุ่ม อย. น้อย ไม่ได้เป็นกลุ่มของ สคบ. ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ กสทช. ไปจัดตั้ง เป็นต้น แต่คนที่ทำงานใน กสทช. ก็มีสิทธิที่จะมาร่วมมือกับองค์กรผู้บริโภคเพื่อทำให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคให้เข้มแข็งในพื้นที่ของตัวเองได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า กสทช. ทั้งหมดจะมาตั้งกลุ่มองค์กรผู้บริโภค ทั้งนี้ สปน. ได้ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวยังไม่ชัดเจนเรื่องการตีความของกฎหมาย ตอนนี้จึงอยู่ระหว่างการหารือจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้น เครือข่ายผู้บริโภคจึงขอให้ สปน. ทำหนังสือถึงแต่ละจังหวัด เพื่อแจ้งว่าประเด็นนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับกฤษฎีกา เนื่องจากในบางจังหวัดนายทะเบียนได้ตัดสินไปแล้วว่าองค์กรผู้บริโภคที่มีกรรมการมาจากหน่วยงานของรัฐไม่ผ่านหรือไม่สามารถจดแจ้งฯ ได้
อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ เครือข่ายผู้บริโภคจะเข้าพบคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหารือเรื่องข้อกฎหมายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อให้การดำเนินการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้าพบ รมต.เทวัญ หารือเรื่องสภาองค์กรผู้บริโภค และนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค
- บุญยืน เตือน สำนักปลัดฯ อย่ารับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคฯ มั่ว
และร่วมติดตาม Facebook LIVE ย้อนหลัง เรื่อง ความคืบหน้าการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค หลังหารือกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค