สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เรียกร้อง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยุติการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคและให้เร่งรัดการพิจารณาการรับจดแจ้งองค์กรรวมถึงการเปิดเผยข้อมูล ด้านเลขารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับ สปน. จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องเพียงบางส่วน ส่วนที่เหลืออาจต้องไปทบทวนและปรึกษาหารือต่อ
จากการที่เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม ที่ผ่านมา สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) พร้อมตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ได้เข้าพบนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้บริโภค และขอให้ตรวจสอบการรับจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดนั้น
ต่อมา สสอบ. ได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เพื่อให้ข้อมูลถึงความผิดปกติของการจดแจ้งองค์กรที่มีการดำเนินการโดยบุคคลเดียวมาขอยื่นจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคจำนวนมาก พร้อมทั้งขอทราบข้อมูลและผลงานการคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรผู้บริโภคที่ได้ยื่นจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคทั้งในส่วนของนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัด เพื่อให้เกิดการตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคและป้องกันมิให้องค์กรที่มิได้ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมาดำเนินการแอบอ้างเพื่อรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค แต่ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลตามที่ได้ร้องขอ
อีกทั้งเมื่อวันที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการจัดประชุมแนวทางการตรวจคุณสมบัติขององค์กรของผู้บริโภคฯ โดยสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สปน. ซึ่งภายหลังพบว่าองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ที่ได้ไปยื่นขอจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค ในหลายจังหวัดมีปัญหาในการรับจดแจ้ง ทั้งแนวทางปฏิบัติการตรวจคุณสมบัติขององค์กรของผู้บริโภคฯของ สปน. ที่กำหนดไว้ในการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภค พบว่านายทะเบียนจังหวัดในแต่ละพื้นที่มีแนวทางซึ่งแตกต่างกัน เกิดการเรียกขอเอกสารที่เกินจำเป็น การเชิญกรรมการองค์กรทุกคนมายืนยันตัวตน และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในข้อกฎหมายหรือแนวปฏิบัติของนายทะเบียนในบางจังหวัด ซึ่งทำให้องค์กรผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวก และมีการสร้างขั้นตอนรับจดแจ้งที่เกินสมควร
วันนี้ (03 กันยายน 2562) สสอบ. พร้อมตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค จึงเข้าพบและหารือกับนายธงชัย ลืออดุลย์ เลขารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนในการหารือครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้การดำเนินการจดแจ้งสถานะองค์กรผู้บริโภคเป็นไปตามกฎหมาย มีแนวทางปฏิบัติเดียวกัน รวมถึงไม่สร้างขั้นตอนให้เกิดความไม่สะดวกและองค์กรผู้บริโภคสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ ดังนี้
1. ขอให้ยุติการเรียกกรรมการขององค์กรผู้บริโภคหรือสมาชิกไปยืนยันตัวตน เนื่องจากขัดต่อมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้วิธีการจดแจ้งต้องไม่สร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น
2. ขอให้แจ้งนายทะเบียนจังหวัด ประเด็นการรับเงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐไม่เป็นอุปสรรคต่อการจดแจ้งองค์กร และสามารถรับเงินได้ตามที่กำหนดใน มาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562
3. ขอให้มีแนวทางที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรให้กับนายทะเบียนจังหวัดในการพิจารณารับจดแจ้งองค์กร เช่น ผลงาน 2 ปี ที่ตั้งองค์กร งบประมาณรายรับ - รายจ่ายองค์กร เป็นต้น
4. ขอให้เร่งรัดการพิจารณาจดแจ้งองค์กรให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่ได้รับหนังสือฉบับนี้ เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคต่างๆ สามารถร่วมมือกันในการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ดังที่กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการออกใบอนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน
และ 5. ขอให้ สปน. ยึดหลักการการรับจดแจ้งองค์กรผู้บริโภค ไม่ใช่การขออนุญาตจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค
นายธงชัย ลืออดุลย์ เลขารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สปน. จะดำเนินการตามข้อเรียกร้อง ในเรื่องการยืนยันตัวตนของสมาชิกองค์กรผู้บริโภคที่เป็นนิติบุคคลนั้น สมาชิกไม่ต้องมายืนยันตัวตนทั้ง 10 คน โดยให้เหตุผลว่าองค์กรผู้บริโภคเหล่านี้เป็นองค์กรที่ถูกรับรองโดยหน่วยงานรัฐและสามารถตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่เคยถูกรับรองได้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องมายืนยันตัวตนทั้ง 10 คน และอีกกรณี คือ กรณีองค์กรผู้บริโภคที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ ไม่เป็นข้อต้องห้าม และองค์กรผู้บริโภคที่เคยยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรและถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลดังกล่าว ก็ขอให้รีบกลับเข้ามาจดแจ้งสถานะฯ อีกครั้ง
ส่วนข้อเรียกร้องที่ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น จะส่งเรื่องให้ สปน. ไปทบทวนต่อในประเด็นเรื่องการขอขยายระยะเวลาในการประกาศขึ้นทะเบียนองค์กรว่ามีองค์กรใดผ่านหรือไม่ผ่านหลังจากที่มีการยื่นจดแจ้งสถานะฯ ภายใน 60 วัน รวมถึงเรื่องการยืนยันตัวตนขององค์กรที่ไม่ใช่นิติบุคคลนั้น อาจมีการหาแนวทางอื่น เช่น ให้หน่วยงานรัฐรับรองว่าองค์กรผู้บริโภคนั้นทำงานจริงหรือไม่ หรืออาจให้สมาชิกไปยืนยันตัวตนเพียงบางส่วน เช่น หากมาได้จำนวน 8 คน อาจขอให้มายืนยันตัวตนเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถพิจารณาได้อย่างครบถ้วน เป็นต้น