ภาคประชาชน วอน ก.พานิชย์ หยุดมัดมือเท้า ปล่อยบ.ยาปล้นชีวิตประชาชน
ภาคประชาชน จี้ให้กระทรวงพานิชย์บังคับใช้กฎหมายที่มี ออกมาตรการควบคุมราคายา เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนจากยาราคาแพง พร้อมเตรียมบุกพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 2 ก.ค.นี้
(กรุงเทพฯ/18 มิ.ย.) แผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดแถลงข่าว 'การไม่ควบคุมราคายา: บกพร่องโดยทุจริต???' ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 6 สภาคริสตจักรในประเทศไทย วันพุธที่ 17 มิถุนายน 2558
ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่ายาเป็นสินค้าพิเศษ เป็นสินค้าคุณธรรม เป็นปัจจัยสี่จำเป็นที่รัฐต้องให้การดูแลให้ประชาชนเข้าถึง ด้วยราคาที่ยุติธรรมและต้องทำให้ระบบยาของประเทศมีความมั่นคงด้วย สำหรับกลไกการควบคุมราคาสินค้านั้น รัฐบาลไทยโดยกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่า ด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีมาตราสำคัญที่เป็นกลไกในการควบคุมราคาสินค้าและบริการได้หลายมาตรา เช่น กำหนดให้แสดงราคาสินค้า (มาตรา 9(5) และมาตรา 28) การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร (มาตรา 9(6) และมาตรา 26) และมาตรการอื่น ๆ เช่นมาตรา 25ว่าด้วยเรื่องอัตรากำไรสูงสุด
ผู้จัดการ กพย. กล่าวต่อ “ยารักษาโรคเป็นสินค้าที่ต้องแสดงราคา ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับ พ.ศ. 2558 ที่ต้องมีการประกาศทุกปี และยาก็อยูในรายการมาตลอด รวมกับรายการสินค้าอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ปรากฎว่า ผ้าอนามัย ผงซักฟอก ยา(สารเคมี)ป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช เหล่านี้มีการประกาศพิเศษให้แจ้งต้นทุน ราคา และรายละเอียดแต่สำหรับยาที่เป็นสินค้าคุณธรรม ที่ต้องมีการควบคุมราคาที่เข้มงวด กระทรวงพาณิชย์กลับละเลยไม่เคยมีประกาศใด ๆ ที่ให้ต้องแจ้งต้นทุน ราคา ยา ไม่มีการใช้มาตรการใดๆ ที่เป็นอำนาจตามกฎหมาย ไม่มีการติดตามตรวจสอบสภาพปัญหา นอกจากนี้เคยมีประกาศ เรื่องกำหนดมาตรการป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคายารักษาโรคแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2534 ใช้ไปแค่ 6 เดือน ยกเลิกแล้วไม่เคยมีประกาศเรื่องควบคุมราคายาอีกเลยจนถึงปัจจุบัน
เหล่านี้แสดงถึงการเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุจริต ละเลยประชาชน ทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันทั่วไป เอาใจภาคธุรกิจประเทศชาติจะล่มจม หากกระทรวงพาณิชย์ไม่มีเจตน์จำนงค์และไม่มีความสามารถในการควบคุมราคายาขอ ให้มอบกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติยา”
รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า "นี่แสดงเห็นถึง ความไร้ประสิทธิภาพ และไม่เอาใจใส่ในความเดือดร้อนของประชาชนของกระทรวงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ควบคุมราคายาและไม่ส่งเสริมการเข้าถึงยา กระทรวงพาณิชย์มีกฎหมายครบมือ ทั้ง พรบ.ราคาสินค้าและบริการ แต่ทำแค่การประกาศให้ยาเป็นสินค้าควบคุม แต่ไม่เคยใช้กลไกในกฎหมายทำอะไรที่จะทำให้ราคายามีความยุติธรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน ยอมรับว่า ไม่เคยใช้กลไกในกฎหมายดังกล่าวควบคุมเลย โดยอ้างว่าทำไม่ได้เพราะยุ่งยาก
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมี พรบ.สิทธิบัตร และ พรบ.การแข่งขันทางการค้า ที่สามารถสร้างความเป็นธรรมด้านราคาและการเข้าถึงยาได้ แต่กลับไม่เคยใช้กฎหมายหรือตีความสนับสนุนที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย"
ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวต่อ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ไม่มีความสามารถ แต่กลับไม่ประสานกระทรวงสาธารณสุขอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันก็พยายามขัดขวางกลไกควบคุมราคายาใน พรบ.ยา ฉบับใหม่
อภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า กรมสิทธิบัตรเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ยาแพงขึ้นหรือถูกลงก็ได้ อยากเห็นกระทรวงพานิชย์ใช้คู่มือการให้สิทธิบัตรมาใช้ในการให้สิทธิบัตร อยากเห็นการปฎิรูปกระทรวงพานิชย์อย่างเร่งด่วน
ทางด้าน นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า มีกรณีร้องเรียนมาที่สำนักงานว่า ยาต้านไวรัสเอชไอวีชนิดหนึ่งที่องค์การเภสัชกรรมขายในราคา 900 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งย่านรามคำแหงขายให้ผู้ป่วยในราคาราว 20,000 บาท เรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า ทำไมกลไกการควบคุมราคายาจึงสำคัญ
นิมิตร์ ขอเรียกร้องให้ ครม.ให้แสดงตัวว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน มีความเกี่ยวพัน มีความสัมพันธ์กับบริษัทยาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และขอให้นายกฯ ใช้ภาวะผู้นำให้เปลี่ยนตัวรองนายกฯที่มีข่าวว่าเกี่ยวข้อง และเกี่ยวพันกับบริษัทยาข้ามชาติ และเรียกร้องให้เดินหน้าเรื่องการควบคุมราคายาใน พรบ.ยาฉบับใหม่อย่างเต็มที่
"ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมเรื่องนี้ ถึงล่าช้า ทั้งในส่วนของรองนายกฯ ที่ออกมาปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทยาข้ามชาติ ด้วยเหตุผลว่าการมีกลไกควบคุมราคาไม่เป็นไปตามหลักสากล หรือเพราะว่าหลักสากลเป็นหลักที่เปิดโอกาสให้ บริษัทยา ปล้นชีวิตประชาชน จากการตั้งราคายาอย่างไรก็ได้” นิมิตร์กล่าว
“กระทรวงพาณิชย์ต้องแสดงบทบาทให้สาธารณชนเห็นว่า สนใจเรื่องการค้าพอๆกับที่ใส่ใจทุกข์สุขประชาชน ต้องใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของสังคม ไม่ใช่ห่วงใยแต่นักธุรกิจจนตีความกฎหมาย หรือไม่ยอมใช้กฎหมายเพื่อจัดการปัญหา ไม่เช่นนั้น เราคงต้องสรุปว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ไม่ควบคุมราคายานั้น เป็นความบกพร่องโดยทุจริต ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ให้นักธุรกิจ อุตสาหกรรมยา หอการค้าต่างประเทศเข้าพบ แต่เมื่อประชาชนขอพบกลับถูกกระทรวงพาณิชย์ปฏิเสธ ซึ่งขณะนี้เครือข่ายภาคประชาชนสังคมที่ทำงานเรื่องนี้ กำลังทำเรื่องขอพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาลิการิยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วันที่ 2 ก.ค. ช่วงเช้า" นิมิตร์กล่าว
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล นักวิจัย กพย. กล่าวว่า "ขอตั้งคำถามกับรองนายกฯ ยงยุทธ ยุทธวงศ์ว่าจากการที่ท่านกล่าวว่า หากมีการกำหนดให้เปิดโครงสร้างราคายาไม่เป็นสากล เป็นการแสดงความเห็นในฐานะรองนายกฯ หรือคนที่มีความเกี่ยวพันทางเครือญาติกับบริษัทยา และแสดงให้เห็นว่าท่านยังไม่เข้าใจว่าในสากลมีกระบวนการควบคุมราคายาหลายแบบ และการกำหนดให้เปิดเผยโครงสร้างราคายาเป็นวิธีหนึ่งที่ทั่วโลกใช้กัน"