ธปท.ตื่นขู่ลงแส้แบงก์พาณิชย์

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เท่าที่ติดตามสอบถามข้อมูลกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ในเรื่องไม่ปล่อยกู้ แก่ลูกค้าที่กำลังได้รับความลำบากขาดสภาพคล่องในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอ พบว่าทุกธนาคารยืนยันตรงกันว่า การกันสำรอง หรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท.ในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการปล่อยกู้ใดๆเลย แต่ปัญหาสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ ปล่อยกู้ไม่ได้คือ คุณภาพลูกหนี้ และความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ โดยรวม ซึ่งมากดให้คุณภาพหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารก็พยายามช่วยดูแลลูกหนี้อยู่แล้ว

ทุกแบงก์บอกเหมือนกันว่าเกณฑ์เราไม่ใช่ปัญหา เพราะก่อนนี้เกณฑ์ที่เคยเป็นอุปสรรคเราก็ผ่อนไปพอสมควร อย่างเรื่องลูกหนี้เอ็นพีแอลกู้ไม่ได้  เราก็แก้ไขให้ดูแยกเป็นรายบัญชี  ซึ่งเดิมให้ดูตามรายชื่อลูกค้า  ซึ่งถ้าเป็นชื่อเดียวกันจะกี่บัญชีก็แล้ว กลายเป็นเอ็นพีแอลถูกจัดชั้นทั้งหมด  ทำให้ลูกค้าเอ็นพีแอล ขอกู้ได้ และยังช่วยให้แบงก์แยกหนี้ได้ ไม่รวมเป็นก้อนเดียว ลดภาระการกันสำรองทั้งก้อน เพียงแต่การจะปล่อยกู้เอ็นพีแอลหรือไม่ แบงก์ต้องพิจารณาตามแผนงานของแต่โครงการ ตามเกณฑ์ปกติ ยืนยันได้ว่าลูกหนี้เอ็นพีแอลก็กู้ได้ แต่ถ้ามีแบงก์ไหนแอบอ้างว่าปล่อยกู้ลูกค้าไม่ได้ เพราะติดเกณฑ์ ธปท.พร้อมจะจัดการลงโทษ ให้ร้องเรียนมาได้

 

ในการพิจารณาปล่อยกู้ธนาคารต้องวิเคราะห์ไปตามโครงการนั้นๆ ซึ่งธนาคารเห็นว่าแผนงานหรือโครงการไม่ดีก็มีสิทธิ์ปฏิเสธได้เช่นกัน แต่เรื่องการตัดวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือโอดีแก่ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาคงไม่ใช่การปฏิเสธลูกค้าเพราะหลักเกณฑ์หรือภาระตั้งสำรองของ ธปท. แต่น่าจะมาจากคุณภาพลูกหนี้ ซึ่งถ้าลูกค้าไม่ดีธนาคารคงไม่ปล่อย เพราะโอดีที่ลูกค้ายังไม่ได้เบิกใช้วงเงิน  ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องตั้งสำรองหนี้อยู่แล้ว เพราะยังไม่ได้เป็นเงินให้สินเชื่อ แต่หากลูกค้ามีการเบิกใช้แล้วก็จะกลายเป็นสินเชื่อซึ่งต้องตั้งสำรองทั่วไป 1% เหมือนสินเชื่อปกติ

 

อย่างไรก็ตาม ในการคิดคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงไม่ต่ำกว่า 8.5% นั้น จะต้องนำวงเงินโอดีที่ลูกค้ายังไม่ได้เบิกใช้มาคำนวณรวมเป็นสินทรัพย์เสี่ยงด้วย เนื่องจากถือว่ามีสัญญาผูกพันล่วงหน้ากับลูกค้าแล้ว ทำนองเดียวกับวงเงินการค้ำประกันทั่วๆไปตามหลักเกณฑ์ ปกติ ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเลือกวิธีการตัดวงเงินโอดีของลูกค้า  เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้  และดูแลเงินกองทุนไม่ให้ลดลงหรือไม่ให้เป็นภาระเงินกองทุน  เพราะสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้นจากโอดี  หรือกระทั่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโอดีเพื่อเช็กคุณภาพลูกค้า ถ้ายังสามารถชำระหนี้ได้แม้ดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะยังให้ต่อ แต่ถ้าไม่ได้ก็เป็นการไล่ลูกค้าไปธนาคารอื่นทางอ้อม.


ข้อมูลจาก ไทยรัฐ 16-4-52

พิมพ์ อีเมล

ธ.อิสลาม-กทม.ช่วยหนี้แสนล.

ธนาคารอิสลามจับมือกรุงเทพมหานคร แอ่นอกอุ้มคนกรุงปลดแอกหนี้เน่า บ้านกำลังถูกยึดขายทอดตลาด ระบุสถาบันการเงินทั้งระบบมีแสนล้าน

อ่านต่อ

พิมพ์ อีเมล

ปิดสัมพันธ์ประกันภัย

คปภ. เพิ่งได้ฤกษ์ชง “กรณ์” สั่งปิดสัมพันธ์ประกันภัย หลังให้โอกาสลอยนวลมาเกือบ 2 ปี

นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขา ธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ตามที่คปภ.เสนอ

ทั้งนี้ ฐานะการเงินของสัมพันธ์ประกันภัยในปัจจุบัน ยังมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินถึง 748 ล้านบาท โดยมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายแก่ผู้ถือกรมธรรม์ที่มาร้องเรียนต่อคปภ. 16,585 ราย เป็นเงิน 701 ล้านบาท

บริษัท ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ลูกค้าแค่ 1,757 ราย เป็นเงิน 12.7 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้ คปภ.ได้ส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้บริหารบริษัท ข้อหา ยักยอกในฐานะผู้มีอาชีพหรือทำธุรกิจที่ไว้วางใจของประชาชน และปลอมแปลงเอกสาร

อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัทนั้น ให้มายื่นขอชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชีและกองทุนประกันวินาศภัยได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้เท่านั้น โดยติดต่อได้ที่สำนักงานคปภ.

นางจันทรา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้คปภ. ได้สั่งให้สัมพันธ์ประกันภัยหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตั้งแต่ วันที่ 16 ก.ค. 2550 เพื่อให้แก้ไขปัญหาฐานะการเงินของบริษัทให้เรียบร้อยก่อน แต่เวลาผ่านมา 1 ปี 8 เดือนแล้ว บริษัทก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

“การถอนใบอนุญาตครั้งนี้ จะไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งระบบ คาดว่าปีนี้ยังเติบโตได้ถึง 5.6% และก็ยังไม่มีบริษัทประกันไหนมีปัญหาการเงินเพิ่มเติมอีก” นางจันทรา กล่าว

สำหรับอีก 2 บริษัทที่มีปัญหาเรื่องฐานะการเงินเหมือนกันคือ บริษัท ธนสินประกันภัย มีเงินกองทุนที่ขาดอยู่ 430 ล้านบาท ขณะนี้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ยูเนี่ยนอินเตอร์ประกันภัย และได้ผู้ถือหุ้นใหม่จะใส่เงินเข้ามา 120 ล้านบาท ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และหากชำระหนี้สินที่เหลืออีก 100 ล้านบาทเสร็จ ก็จะพิจารณาให้เปิดกิจการใหม่ทันที

ด้านบริษัท ฟินันซ่าประกันชีวิต ขณะนี้กองทุนดีอีจีจากเยอรมนีได้เสนอตัวเข้าตรวจสอบฐานะการเงิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ แม้ว่าปัจจุบันเงินกองทุนของบริษัทจะขาดอยู่เป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 26/3/52

พิมพ์ อีเมล

ฟ้องบิ๊กสัมพันธ์ประกันภัย

ดีเอสไอเดินหน้าฟันอาญา 15 ผู้บริหาร สัมพันธ์ประกันภัย สาวข้อมูลลึกพบโอนที่ดินออกจากบริษัทอื้อ

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอดำเนินคดีผู้บริหารของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย และผู้เกี่ยวข้อง กรณีมีพฤติการณ์ยักยอกทรัพย์สินของบริษัท รวมทั้งปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม เพื่อแสดงว่าบริษัทมีเงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมาย โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวต่อเนื่องจากเมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่คปภ.ได้แจ้งดำเนินคดีผู้บริหารไปแล้ว 15 ราย โดยระหว่างการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้โอนทรัพย์สินประเภทที่ดินในหลายท้องที่ทั่วประเทศให้กับบุคคลภายนอก ทำให้คปภ.ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอให้ดำเนินคดีเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ดีเอสไอได้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน โดยมี พ.ต.อ. มานิต ธนสันติ ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร เป็นหัวหน้าคณะ โดยได้สอบสวนปากคำพยานไปแล้ว 78 ราย ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา

นายชลัช โรจนสุขสกุล นายกสมาคมสหมิตรการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย
กล่าวว่า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะประชุมร่วมกับสมาชิกอู่ซ่อมรถที่ได้รับผลกระทบและเป็นเจ้าหนี้บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางสมาชิกอู่ 16 ราย ก็ได้รวมตัวกันฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้ถือหุ้นบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ในข้อหาฉ้อโกงแล้ว และคาดว่าศาลจะตัดสินในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้านบาท โดยยังมีอู่ที่ยังเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ทั่วประเทศประมาณ 150-160 อู่

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการซ่อมรถยนต์ เปิดเผยว่า ขณะทางอู่ที่ได้รับความเดือดร้อนกำลังพิจารณาว่าจะรวมตัวกันฟ้องร้องไปที่ ศาลปกครองเพื่อดำเนินคดีกับคปภ. ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือ ไม่ เพราะตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ปี ทางคปภ. ไม่ดำเนินการใดๆ

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 27/3/52

พิมพ์ อีเมล

เผย"สัมพันธ์ปกภ."แอบโอนที่ดินออก

เมื่อ วันที่ 26 มีนาคม พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงคดีที่ผู้บริหารบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ยักยอกทรัพย์สินของบริษัท มูลค่าความเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาทว่า ดีเอสไอได้ดำเนินคดีผู้ทุจริตแล้ว 15 ราย และสั่งอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบ แต่ล่าสุดพบว่าบริษัทได้โอนทรัพย์สินประเภทที่ดินในหลายท้องที่ทั่วประเทศ ให้กับบุคคลภายนอก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) จึงร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีเพิ่มเติม

ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานการตรวจสอบร่วมกับสำนักงาน คปภ. เพื่อตรวจสอบมูลค่าความเสียหาย และเนื่องจากเป็นการทุจริตทางบัญชี มีเอกสารที่จะต้องตรวจพิสูจน์ และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ดีเอสไอได้เร่งรัดและจะสรุปสำนวน ส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาต่อไป แต่ยังฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานแอบโอนที่ดินให้กับบุคคลภายนอกอีก ซึ่งจะเร่งตรวจสอบมูลค่าความเสียหาย และสอบพยาน เพื่อมัดตัวผู้กระทำผิดอีกระลอก

ข้อมูลจาก นสพ.มติชน 27/3/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน