ธปท.ตื่นขู่ลงแส้แบงก์พาณิชย์

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เท่าที่ติดตามสอบถามข้อมูลกับผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ในเรื่องไม่ปล่อยกู้ แก่ลูกค้าที่กำลังได้รับความลำบากขาดสภาพคล่องในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอ พบว่าทุกธนาคารยืนยันตรงกันว่า การกันสำรอง หรือหลักเกณฑ์การกำกับดูแลของ ธปท.ในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคในการปล่อยกู้ใดๆเลย แต่ปัญหาสำคัญที่ธนาคารพาณิชย์ ปล่อยกู้ไม่ได้คือ คุณภาพลูกหนี้ และความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจ โดยรวม ซึ่งมากดให้คุณภาพหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งธนาคารก็พยายามช่วยดูแลลูกหนี้อยู่แล้ว

ทุกแบงก์บอกเหมือนกันว่าเกณฑ์เราไม่ใช่ปัญหา เพราะก่อนนี้เกณฑ์ที่เคยเป็นอุปสรรคเราก็ผ่อนไปพอสมควร อย่างเรื่องลูกหนี้เอ็นพีแอลกู้ไม่ได้  เราก็แก้ไขให้ดูแยกเป็นรายบัญชี  ซึ่งเดิมให้ดูตามรายชื่อลูกค้า  ซึ่งถ้าเป็นชื่อเดียวกันจะกี่บัญชีก็แล้ว กลายเป็นเอ็นพีแอลถูกจัดชั้นทั้งหมด  ทำให้ลูกค้าเอ็นพีแอล ขอกู้ได้ และยังช่วยให้แบงก์แยกหนี้ได้ ไม่รวมเป็นก้อนเดียว ลดภาระการกันสำรองทั้งก้อน เพียงแต่การจะปล่อยกู้เอ็นพีแอลหรือไม่ แบงก์ต้องพิจารณาตามแผนงานของแต่โครงการ ตามเกณฑ์ปกติ ยืนยันได้ว่าลูกหนี้เอ็นพีแอลก็กู้ได้ แต่ถ้ามีแบงก์ไหนแอบอ้างว่าปล่อยกู้ลูกค้าไม่ได้ เพราะติดเกณฑ์ ธปท.พร้อมจะจัดการลงโทษ ให้ร้องเรียนมาได้

 

ในการพิจารณาปล่อยกู้ธนาคารต้องวิเคราะห์ไปตามโครงการนั้นๆ ซึ่งธนาคารเห็นว่าแผนงานหรือโครงการไม่ดีก็มีสิทธิ์ปฏิเสธได้เช่นกัน แต่เรื่องการตัดวงเงินเบิกเกินบัญชี หรือโอดีแก่ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมาคงไม่ใช่การปฏิเสธลูกค้าเพราะหลักเกณฑ์หรือภาระตั้งสำรองของ ธปท. แต่น่าจะมาจากคุณภาพลูกหนี้ ซึ่งถ้าลูกค้าไม่ดีธนาคารคงไม่ปล่อย เพราะโอดีที่ลูกค้ายังไม่ได้เบิกใช้วงเงิน  ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องตั้งสำรองหนี้อยู่แล้ว เพราะยังไม่ได้เป็นเงินให้สินเชื่อ แต่หากลูกค้ามีการเบิกใช้แล้วก็จะกลายเป็นสินเชื่อซึ่งต้องตั้งสำรองทั่วไป 1% เหมือนสินเชื่อปกติ

 

อย่างไรก็ตาม ในการคิดคำนวณอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือบีไอเอส ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องดำรงไม่ต่ำกว่า 8.5% นั้น จะต้องนำวงเงินโอดีที่ลูกค้ายังไม่ได้เบิกใช้มาคำนวณรวมเป็นสินทรัพย์เสี่ยงด้วย เนื่องจากถือว่ามีสัญญาผูกพันล่วงหน้ากับลูกค้าแล้ว ทำนองเดียวกับวงเงินการค้ำประกันทั่วๆไปตามหลักเกณฑ์ ปกติ ก่อนหน้านี้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเลือกวิธีการตัดวงเงินโอดีของลูกค้า  เพื่อลดความเสี่ยงในการปล่อยกู้  และดูแลเงินกองทุนไม่ให้ลดลงหรือไม่ให้เป็นภาระเงินกองทุน  เพราะสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงขึ้นจากโอดี  หรือกระทั่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโอดีเพื่อเช็กคุณภาพลูกค้า ถ้ายังสามารถชำระหนี้ได้แม้ดอกเบี้ยสูงขึ้นก็จะยังให้ต่อ แต่ถ้าไม่ได้ก็เป็นการไล่ลูกค้าไปธนาคารอื่นทางอ้อม.


ข้อมูลจาก ไทยรัฐ 16-4-52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน