พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะโฆษกดีเอสไอ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดีเอสไอดำเนินคดีผู้บริหารของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย และผู้เกี่ยวข้อง กรณีมีพฤติการณ์ยักยอกทรัพย์สินของบริษัท รวมทั้งปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม เพื่อแสดงว่าบริษัทมีเงินกองทุนครบถ้วนตามกฎหมาย โดยคดีนี้มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวต่อเนื่องจากเมื่อต้นเดือนมี.ค. ที่คปภ.ได้แจ้งดำเนินคดีผู้บริหารไปแล้ว 15 ราย โดยระหว่างการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ได้โอนทรัพย์สินประเภทที่ดินในหลายท้องที่ทั่วประเทศให้กับบุคคลภายนอก ทำให้คปภ.ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอให้ดำเนินคดีเพิ่มเติม
ทั้งนี้ ดีเอสไอได้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน โดยมี พ.ต.อ. มานิต ธนสันติ ผู้บัญชาการสำนักคดีการเงินการธนาคาร เป็นหัวหน้าคณะ โดยได้สอบสวนปากคำพยานไปแล้ว 78 ราย ก่อนแจ้งข้อกล่าวหา
นายชลัช โรจนสุขสกุล นายกสมาคมสหมิตรการซ่อมรถยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ จะประชุมร่วมกับสมาชิกอู่ซ่อมรถที่ได้รับผลกระทบและเป็นเจ้าหนี้บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางสมาชิกอู่ 16 ราย ก็ได้รวมตัวกันฟ้องร้องดำเนินคดีอาญากับผู้ถือหุ้นบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ในข้อหาฉ้อโกงแล้ว และคาดว่าศาลจะตัดสินในสิ้นเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายหลายสิบล้านบาท โดยยังมีอู่ที่ยังเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ทั่วประเทศประมาณ 150-160 อู่
แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการซ่อมรถยนต์ เปิดเผยว่า ขณะทางอู่ที่ได้รับความเดือดร้อนกำลังพิจารณาว่าจะรวมตัวกันฟ้องร้องไปที่ ศาลปกครองเพื่อดำเนินคดีกับคปภ. ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือ ไม่ เพราะตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ปี ทางคปภ. ไม่ดำเนินการใดๆ
ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 27/3/52