เตือนภัยหลอกยกเลิกกรมธรรม์แชร์ลูกโซ่-อ้างคืนเงินทันที 30% - ฐานเศรษฐกิจ

นายกสมาคมประกันชีวิตไทยออกโรงเตือนภัย ระวังแก๊งตุ๋นหลอกให้ยกเลิกกรมธรรม์ อ้างจ่ายผลตอบแทนให้ทันที 30% เลียนแบบกระบวนการแชร์ลูกโซ่ แนะเจ้าทุกข์แจ้ง คปภ. ทันทีสกัดกั้นระบบเน่า ขณะที่แนวโน้มตลาดประกันชีวิตปี 52 คาดเบี้ยรับรวมยังโต 8.1%



นายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า จากวิกฤติทางการเงินที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว ทำให้เริ่มมีการระบาดของการทุจริตโดยกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงผู้เอาประกัน แฝงเข้ามาในรูปแบบกลุ่มตัวแทน ด้วยวิธีการใช้คำพูดชักจูงให้ผู้เอาประกันยกเลิกกรมธรรม์ที่ถือไว้ เพื่อมาซื้อกรมธรรม์ฉบับใหม่ที่มีความคุ้มครองใกล้เคียงกัน พร้อมกับเสนอผลตอบแทนค่าคอมมิสชันหรือค่าหัวคิวคืนให้ทันที 22.5-30% ของมูลค่าลงทุนซื้อกรมธรรม์ใหม่ โดยที่กลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่ถือกรมธรรม์ชำระเบี้ยประกัน 2-3 ปี


ตัวอย่างของการหลอกลวง เช่น ผู้เอาประกันถือกรมธรรม์ชำระเบี้ยมาแล้ว 2-3 ปี มีมูลค่าเงินสด 50,000 บาท สนใจเข้าร่วมระบบนี้ เมื่อยกเลิกกรมธรรม์ แล้วนำเงินมาซื้อกรมธรรม์ที่นำเสนอในราคาเพียง 25,000 บาท ซึ่งความคุ้มครองใกล้เคียงกรมธรรม์เดิมและยังให้ค่าคอมมิสชันคืนทันทีอีก 15,000 บาท หากต้องการได้เงินเพิ่มก็ไปชวนเพื่อนหรือญาติมาทำในลักษณะเดียวกันแล้วเอา ค่าหัวคิวไปอีก 17.5%


ผู้เอาประกันส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากำลังถูกหลอกและเสียผลประโยชน์ หากยกเลิกกรมธรรม์ อาทิ เมื่อประกันตอนอายุมากเปลี่ยนเบี้ยประกันแพงขึ้น หรือสูญเสียมูลค่าเงินสดที่เริ่มในปีที่ 2 ทันที และที่สำคัญหากเป็นกรมธรรม์ที่ซื้อก่อนปี 2552 จะเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีเดิมสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเบี้ยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ผู้เอาประกันอาจจะถูกฟ้องในคดีอาญา ข้อหาฉ้อฉลเข้าร่วมกับกลุ่มผู้กระทำความผิด เป็นผู้นำเสนอไม่มีใบอนุญาตตัวแทน ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต 2551 มีโทษปรับ 3,000 บาทและจำคุก


"เรื่องนี้น่ากังวลอย่างมาก ถือว่าเข้าข่ายกรณีการทุจริตแชร์ลูกโซ่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจอื่นและสามารถ เกิดมูลค่าความเสียหายมากกว่า เพราะมีผู้เอาประกันเป็นจำนวนมากที่จะเสียสิทธิประโยชน์ เพราะการทุจริตที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนการที่เนียนมากๆ"


ดังนั้น ทางสมาคม และบริษัทประกันชีวิตทั้ง 24 แห่ง กำลังเฝ้าระวังการทุจริตและแจ้งเตือนภัยให้กับผู้เอาประกันพยายามรักษา กรมธรรม์ที่มีไว้ และหากผู้เอาประกันรายใดถูกพูดชักจูงในรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น ให้โทรกลับเพื่อตรวจสอบได้ที่บริษัทประกันโดยตรงหรือหากได้รับความเสียหาย สามารถร้องเรียนและแจ้งเบาะแส ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อยุติการทุจริตที่จะทำให้ภาพธุรกิจประกันชีวิตทั้งระบบเสียหาย


ทั้งนี้ นายสาระ ยังได้กล่าวถึง แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตปี 2552 เบี้ยรับรวมจะเติบโตที่ 8.1% หรือมีเบี้ยรับรวม 240,181.2 ล้านบาท เงินกองทุนสูงถึง 145,261.4 ล้านบาท ขณะที่เบี้ยรับรวมปี 2551 คิดเป็นมูลค่า 222,100 ล้านบาท เติบโต 10%
 
ฐานเศรษฐกิจ 29/1/52
 

พิมพ์ อีเมล

ผู้ประกอบการแห่ฟ้องผู้บริโภคเบี้ยวหนี้โคราชสูงกว่า487คดี -

นายพิเชฏฐ์ รื่นเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถิติคดีผู้บริโภค นับจากเริ่มมีผลบังคับใช้กฎหมายผู้บริโภคเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมาว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 มีคดีรับฟ้องทั้งหมด 487 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 112 เรื่อง ยังเหลือคดีที่คงค้างอีก 375 เรื่อง ทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการยื่นฟ้องลูกหนี้
เช่น คดีเช่าซื้อ คดีบัตรเครดิต คดีการกู้ยืมเงิน จากธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งบริษัทให้สินเชื่อ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นคดีรูปแบบเดิมทั้งสิ้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นกฎหมายผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายผู้บริโภคจะระบุชัดว่า ออกมาเพื่อรองรับผู้บริโภคที่เป็นโจทก์เท่านั้น แต่จากสถิติจะเห็นว่า จำนวนผู้ประกอบการที่เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง มีจำนวนมากกว่าผู้บริโภค เป็นผลมาจากการที่กรรมาธิการด้านกฎหมาย ได้มีข้อโต้แย้งในร่างกฎหมาย ทำให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและได้นำการฟ้องทั้ง 2 กรณีมารวมเข้าด้วยกัน แต่ให้ยึดที่ประเภทคดีเป็นหลักโดยไม่ดูคู่ความ
นายพิเชฏฐ์ กล่าวว่า คดีประเภทนี้จะมีการยื่นฟ้องเข้ามาประมาณ 70-80% ของคดีแพ่งทั้งหมดของศาลแขวง ซึ่งเมื่อมีการแยกออกมาเป็นกฎหมายผู้บริโภค แม้กระบวนการส่วนใหญ่จะคล้ายแบบเดิม แต่จะเร่งรัดในด้านเวลาให้รวดเร็วขึ้น โดยมีกำหนดให้นัดพิจารณาคดีไม่เกิน 30 วัน และได้เน้นการไกล่เกลี่ยเป็นหลัก ส่วนผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างไรบ้างนั้น อาจกล่าวได้ว่า จะได้รับในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ
กระบวนการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากตัวกฎหมายเดิมผู้ประกอบการที่เป็นโจทก์สามารถฟ้องได้ทั้ง 2 ทาง คือ ที่ศาลมีมูลคดีเกิดขึ้น และศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา แต่กฎหมายผู้บริโภคนี้บังคับให้ผู้ประกอบการที่เป็นโจทก์สามารถยื่นฟ้องได้กรณีเดียวเท่านั้นคือ สถานที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ ในขณะที่ผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ยังสามารถเลือกฟ้องได้ทั้ง 2 ทางเช่นเดิม ถือว่ามีการปรับเปลี่ยนเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่เป็นจำเลย เนื่องจากกรณีการฟ้องส่วนใหญ่ จะเห็นว่าผู้ประกอบการที่เป็นโจทก์มีอำนาจการต่อรองที่ค่อนข้างเหนือกว่าจำเลย
นายพิเชฏฐ์ กล่าวว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ต้องการให้โอกาสสำหรับผู้บริโภค ที่เป็นโจทก์ได้ต่อสู้คดีง่ายขึ้น เป็นการตัดสิทธิผู้ประกอบการที่จะไม่สามารถยื่นฟ้องศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นได้ ส่วนวงเงินที่ถูกฟ้องหากจำนวนไม่เกิน 3 แสนบาท ยื่นฟ้องมายังศาลแขวงฯ แต่หากมากกว่า 3 แสนบาท จะต้องยื่นไปที่ศาลจังหวัดฯ ในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากสินค้าไม่ปลอดภัย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ เช่น เกิดอาการแพ้ครีมที่ซื้อมา สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้คุณภาพ จะได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการฟ้องร้องทั้งหมด

 สำนักข่าวเนชั่น 4 พ.ย. 2551

พิมพ์ อีเมล

พาณิชย์ติดดาบเชือดโจรลิขสิทธิ์

นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 13 ม.ค.นี้ จะเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศุลกากร กรมสืบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมทรัพย์สินทาง ปัญญา ซึ่งพาณิชย์ได้รับการตอบรับจากนายกรัฐ มนตรี เรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การทำงานด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นรูปธรรมอย่างเข้มข้น มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาดและจริงจังมากขึ้น ที่สำคัญยังจะช่วยทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถจับกุมผู้ละเมิดได้ด้วยรวมทั้งจะแต่งตั้งหน่วยปราบปรามพิเศษ เพื่อออกปฏิบัติการตรวจจับอย่างเต็มที่

ทั้งนี้เมื่อมีคณะกรรมการฯเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการกวาดล้างกระบวนการละเมิดทรัพย์สินทาง ปัญญาทันที และไม่มีการละเว้นใด ๆ ที่สำคัญต้องไม่มีการทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกแต่อย่างใดและต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ยังได้วางเป้าหมายการ ดำเนินงานหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากรมว. พาณิชย์อย่างเป็นทางการแล้วโดยเร่งบูรณาการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกันดูแลอย่างใกล้ชิดและประสานงานร่วมกันให้มากขึ้น ซึ่งได้ทำหนังสือถึงรมว.กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมศุลกากรและ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือไปแล้ว และต้องการให้แนวทางดำเนินการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะพบว่า ผู้ผลิตและแหล่งผลิตส่วนใหญ่มากกว่า 60% อยู่ตามแนวตะเข็บชายแดน จึงต้องเพิ่มความร่วมมือร่วมกันอย่างเข้มงวด และต้องเร่งกวาดล้าง จับกุม โดยไม่ละเว้นใด ๆ เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้มากที่สุด.
นสพ.เดลินิวส์
12-01-52

พิมพ์ อีเมล

คปภ.ดัดหลังเคลมแห้ง

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551
โพสต์ทูเดย์ — คปภ.แก้กฎประกันรถชั้น 1 เตือนใครขอเคลมแห้ง เสียครั้งละ 1,000 บาท อย่างไม่มีทางเลี่ยง

 

 

นายอรัญ ศรีว่องไทย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประกันภัยยาน ยนต์ สมาคมประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 ผู้ที่ทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ควร ทำความเข้าใจและอ่านเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ให้ดี เนื่องจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้แก้ไขและปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่แล้ว

กรมธรรม์ใหม่จะแก้ไขเฉพาะเรื่องของความเสียหายส่วนแรก ที่เงื่อนไขกรมธรรม์ใหม่ ระบุว่า ให้ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบเองต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้ง คือ ผู้เอาประกันต้องเสีย 1,000 บาทแรกของความเสียหายอันมิได้เกิดจากการชน หรือคว่ำ หรือกรณีที่เกิดจากการชน แต่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้

สำหรับเงื่อนไขเดิม คือ ผู้เอาประกันต้องเสีย 2,000 บาทแรกของความเสียหายอันเกิดจากการชน ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้เท่านั้น

“ต่อไปรถที่ขอเคลมแห้ง แบบที่ว่าเก็บแผลไว้นานๆ ก่อน แล้วค่อยมาเคลมภายหลัง เช่น ไปชนต้นไม้ เบียดกำแพง หรือเบียดเสามา โดยไม่สามารถระบุที่มาที่ไปได้ชัดเจน จะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกครั้งละ 1,000 บาท แต่หากผู้เอาประกันชนแล้วรีบแจ้งเหตุทันที มีที่มาที่ไปชัดเจนว่าเกิดเหตุตรงไหน ก็ไม่ต้องเสีย 1,000 บาท และการคุ้มครองก็ยังเหมือนเดิม” นายอรัญ กล่าว

สำหรับการแก้เงื่อนไขกรมธรรม์ดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันที่ขับรถดีใช้ความระมัดระวัง แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันที่ขับรถไม่ระวังเท่านั้น ซึ่งต่อไปใครที่ต้องการเคลมแห้งก็ต้องคิดให้ดีก่อนว่าจะคุ้มหรือไม่กับการเสียเงินต่อครั้งที่ 1,000 บาท โดยบริษัทประกันก็หวังว่าจะทำให้อัตราความเสียหายต่อเบี้ยประกันเฉลี่ยทั้งระบบปรับลดลงบ้างเหลือประมาณ 55-60% จากปัจจุบันอยู่เกินกว่า 60% ซึ่งมีผลต่อการคำนวณเบี้ยประกันภัยด้วย

พิมพ์ อีเมล

เตือนภัยเจ้าของรถปีหน้าประกันเขี้ยวแน่

วันพฤหัสบดีที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2551
โพสต์ทูเดย์ — นายประกันเตือนลูกค้าประกันภัยรถยนต์ปี 2552 เคลมยาก เหตุสภาพเศรษฐกิจแย่

 

 

แหล่งข่าวจากบริษัทประกันวินาศภัย เปิดเผยว่า ปี 2552 บริษัทประกันวินาศภัยจะมีความเข้มงวดในการพิจารณาจ่ายสินไหมมากขึ้น โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำ ให้ธุรกิจประกันภัยมีรายได้จากการขายประกันภัยใหม่ และรายได้จากการลงทุนลดลง ทำให้ต้องหันมา เข้มงวดการจ่ายสินไหม เพื่อป้องกันการรั่วไหล จะทำให้ลูกค้าได้รับความไม่สะดวก

มาตรการที่บริษัทประกันจะ นำมาใช้จะรัดกุมมากขึ้น หากลูกค้าผิดเงื่อนไขเพียงนิดเดียว ไม่ว่าจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือถูกบริษัทประกันภัยทำให้เกิดความเข้าใจผิดแล้วลงนามในเอกสารที่เข้าข้างบริษัทประกัน อาจได้รับการปฏิเสธการจ่ายสินไหมทดแทน

นอกจากนี้ กรณีเกิดอุบัติเหตุ เจ้าของรถยนต์ควรรอให้พนักงาน เคลมของทั้ง 2 บริษัท คือ บริษัท ที่รับประกันภัย และบริษัทประกันภัยของคู่กรณีเข้ามาทำการเก็บหลัก ฐานก่อน มิฉะนั้นลูกค้าจะเสียเปรียบ เพราะอาจถูกตีความเข้าข้างฝ่ายตรงข้าม

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอกซ่าประกันภัย กล่าวว่า ลูกค้าควรจะเลือกบริษัทประกันภัยจากประวัติการจ่ายสินไหมทดแทน หรือสอบ ถามจากบริษัทนายหน้าประกันภัย และดูบริการหลังการขาย เช่น การซ่อม ระยะเวลาในการจ่ายสินไหมทดแทน ที่จะต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั้งลูกค้าที่ซื้อประกันภัยชั้น 1 หรือประกันภัยชั้น 3 ที่ยังมีปัญหาการให้บริการที่แตกต่าง และไม่ควรเลือกบริษัทจากการโฆษณา

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน