นายพิเชฏฐ์ รื่นเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถิติคดีผู้บริโภค นับจากเริ่มมีผลบังคับใช้กฎหมายผู้บริโภคเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมาว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2551 มีคดีรับฟ้องทั้งหมด 487 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 112 เรื่อง ยังเหลือคดีที่คงค้างอีก 375 เรื่อง ทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการยื่นฟ้องลูกหนี้
เช่น คดีเช่าซื้อ คดีบัตรเครดิต คดีการกู้ยืมเงิน จากธนาคาร และสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งบริษัทให้สินเชื่อ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นคดีรูปแบบเดิมทั้งสิ้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นกฎหมายผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายผู้บริโภคจะระบุชัดว่า ออกมาเพื่อรองรับผู้บริโภคที่เป็นโจทก์เท่านั้น แต่จากสถิติจะเห็นว่า จำนวนผู้ประกอบการที่เป็นโจทย์ยื่นฟ้อง มีจำนวนมากกว่าผู้บริโภค เป็นผลมาจากการที่กรรมาธิการด้านกฎหมาย ได้มีข้อโต้แย้งในร่างกฎหมาย ทำให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและได้นำการฟ้องทั้ง 2 กรณีมารวมเข้าด้วยกัน แต่ให้ยึดที่ประเภทคดีเป็นหลักโดยไม่ดูคู่ความ
นายพิเชฏฐ์ กล่าวว่า คดีประเภทนี้จะมีการยื่นฟ้องเข้ามาประมาณ 70-80% ของคดีแพ่งทั้งหมดของศาลแขวง ซึ่งเมื่อมีการแยกออกมาเป็นกฎหมายผู้บริโภค แม้กระบวนการส่วนใหญ่จะคล้ายแบบเดิม แต่จะเร่งรัดในด้านเวลาให้รวดเร็วขึ้น โดยมีกำหนดให้นัดพิจารณาคดีไม่เกิน 30 วัน และได้เน้นการไกล่เกลี่ยเป็นหลัก ส่วนผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างไรบ้างนั้น อาจกล่าวได้ว่า จะได้รับในเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่างๆ
กระบวนการที่รวดเร็ว สะดวกสบาย ประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากตัวกฎหมายเดิมผู้ประกอบการที่เป็นโจทก์สามารถฟ้องได้ทั้ง 2 ทาง คือ ที่ศาลมีมูลคดีเกิดขึ้น และศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนา แต่กฎหมายผู้บริโภคนี้บังคับให้ผู้ประกอบการที่เป็นโจทก์สามารถยื่นฟ้องได้กรณีเดียวเท่านั้นคือ สถานที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ ในขณะที่ผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ยังสามารถเลือกฟ้องได้ทั้ง 2 ทางเช่นเดิม ถือว่ามีการปรับเปลี่ยนเพื่อต้องการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่เป็นจำเลย เนื่องจากกรณีการฟ้องส่วนใหญ่ จะเห็นว่าผู้ประกอบการที่เป็นโจทก์มีอำนาจการต่อรองที่ค่อนข้างเหนือกว่าจำเลย
นายพิเชฏฐ์ กล่าวว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ต้องการให้โอกาสสำหรับผู้บริโภค ที่เป็นโจทก์ได้ต่อสู้คดีง่ายขึ้น เป็นการตัดสิทธิผู้ประกอบการที่จะไม่สามารถยื่นฟ้องศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นได้ ส่วนวงเงินที่ถูกฟ้องหากจำนวนไม่เกิน 3 แสนบาท ยื่นฟ้องมายังศาลแขวงฯ แต่หากมากกว่า 3 แสนบาท จะต้องยื่นไปที่ศาลจังหวัดฯ ในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์ฟ้องผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากสินค้าไม่ปลอดภัย หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ เช่น เกิดอาการแพ้ครีมที่ซื้อมา สินค้าที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้คุณภาพ จะได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการฟ้องร้องทั้งหมด