จากกรณีที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์เรื่องห้างสรรพสินค้าขายกระเป๋าลดราคา แล้วเมื่อแกะป้ายราคาอันใหม่ที่ทับป้ายราคาเก่าออก กลับพบว่ามีราคาเท่ากันนั้น
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณีดังกล่าว หากพื้นที่ที่แสดงสินค้าติดป้ายโฆษณาแจ้งไว้ว่าเป็นพื้นที่ขายสินค้าลดราคา แต่ติดราคาสินค้าเท่ากับราคาสินค้าที่ขายเต็มจำนวน ก็ถือว่าอาจเข้าข่ายมีเจตนาให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าลดราคาแล้ว และหากตรวจสอบแล้วพบว่าราคาที่ลดเท่ากับราคาที่ขายก่อนหน้านี้จริง ผู้ประกอบการอาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ ซึ่งผู้บริโภคสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้
“กรณีเช่นนี้ให้ผู้บริโภคตรวจสอบก่อนซื้อสินค้าว่าลดราคาจริงหรือไม่ ซึ่งราคาที่แสดงว่าลดควรแสดงคู่กับราคาจริง คือ ผู้ประกอบการควรบอกว่าราคาจริงเท่าไหร่ ลดแล้วเหลือเท่าไหร่ เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน การแปะป้ายราคาทับแบบนี้อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่านี่เป็นราคาที่ลดแล้ว ซึ่งหากจัดแสดงสินค้าหรือจัดพื้นที่เฉพาะสินค้าลดราคา ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ ควรมีการแสดงราคาจริงและราคาที่ลดให้ผู้บริโภครู้อย่างชัดเจน” นางนฤมล กล่าว
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากมีการโฆษณาให้เข้าใจว่าสินค้านั้นลดราคาตามป้ายที่ติดไว้ก็อาจเข้าข่ายการโฆษณาด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ (๑) คือการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ซึ่งมีบทกำหนดโทษในมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ ระบุว่า การกระทำความผิดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ mthai.com