แฉ!! บริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมต่ำกว่าโฆษณา

590613 file
เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live ของมูลนิธิฯ (www.facebook.com/fconsumerthai) เรื่อง แฉ!!! บริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมต่ำกว่าโฆษณา

นายโชติ จรัสโชติพินิต ตัวแทนผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ในปี ๒๕๓๖ การทำสัญญาประกันชีวิตในขณะนั้นจะให้ดอกเบี้ยสูง โดยมีการส่งหนังสือชี้ชวนในการทำประกันชีวิต ซึ่งทุกคนก็คาดหวังว่า เมื่อชำระเงินครบ ๒๑ ปีแล้วจะได้เงินก้อนมา แต่ปรากฏว่างวดสุดท้าย ผู้ทำประกันมักได้รับเงินไม่ครบ โดยขาดไปประมาณไม่ต่ำกว่า ร้อยละ ๒๐

นายโชติ กล่าวต่อไปว่า ตามสัญญาอาจจะสัญญาว่าจะให้งวดสุดท้ายร้อยละ ๑๔๐ แต่สุดท้ายผู้ทำประกันก็รับไปประมาณคนละร้อยละ ๑๒๐ เท่านั้นเอง ตรงนี้บริษัทจะสู้ว่า ตามหนังสือในสัญญาที่ออกมาจากกรมการประกันภัยในสมัยก่อนรับประกันแค่ว่าจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๖ แต่ความเป็นจริง หากเป็นดังนั้นก็จะไม่มีใครซื้อ เพราะดอกเบี้ยสมัยก่อนร้อยละ ๑๐ กว่า ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ถูกถกเถียงมาก แล้วบริษัทประกันก็พยายามจะตัดทอนการรวมตัวของผู้บริโภค อย่างใครมีเอกสารครบก็ไปเจรจานอกรอบ ซึ่งเขามองว่าไม่ยุติธรรมเพราะจะทำให้หลักฐานในศาลมีจำนวนน้อยลง

“ตัวเลขเหล่านี้ ถ้าเราเป็นผู้บริโภค เราจะรู้ทันทีว่ามันออกมาจากสำนักงานใหญ่ แต่พอขึ้นถึงศาล บริษัทประกันทุกบริษัทอ้างทันทีว่าไม่เคยมีตัวเลขนี้ขึ้นมา คำถามคือ ผู้บริโภคจะทำยังไง เพราะพอศาลตัดสินออกมาก็หลากหลาย บางครั้งก็ชนะ บางครั้งก็แพ้” นายโชติ กล่าว

580805 sareeด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่า ขอฝากถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ให้ช่วยติดตาม สำรวจการปฏิบัติตามหนังสือชี้ชวน เพราะหนังสือชี้ชวนและคำโฆษณาของบริษัทประกันภัยถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ไม่ใช่เฉพาะกรมธรรม์เท่านั้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม ซึ่งประกันชีวิตเป็นหนึ่งในบริการที่สำคัญที่ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองที่มากขึ้น

“คดีนี้ในชั้นอุทธรณ์ชนะคดี โดยศาลมีคำสั่งให้จ่ายส่วนต่าง ๒๔,๖๐๐ บาท ซึ่งหากนับเป็นรายคนจำนวนเงินก็อาจดูไม่เยอะ แต่กรณีนี้บริษัทอ้างว่ามีประมาณ ๗,๐๐๐ ราย คือประมาณ ๑๗๒ ล้านบาท ที่บริษัทจะได้ประโยชน์ จากการจ่ายเงินไม่เต็มจำนวนให้กับผู้บริโภค” เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าว

นางสาวสารี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเรื่องประกันภัยทั้งหมด ๒๓๙ ราย แบ่งเป็น ประกันสุขภาพ ๑๘๖ ราย ประกันรถยนต์ ๔๘ ราย วินาศภัย ๒ ราย อัคคีภัย ๒ ราย และประกันผู้สูงอายุ ๑ ราย ซึ่งเรื่องที่มากที่สุดคือ เรื่องร้องเรียนกลุ่มประกันชีวิต กรณีที่จ่ายไม่ครบตามสัญญา เช่น ทำประกัน ๒๑ ปีแล้วในหนังสือชี้ชวนบอกว่าจะจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ ๑๐ แต่พอในสัญญากรมธรรม์จริงๆ จ่ายไม่น้อยว่าร้อยละ ๖ เป็นต้น

ทั้งนี้ คดีตัวอย่างดังกล่าวคือ คดีของนายนพดล สิงหเกียรติ ฟ้องบริษัท เอไอเอ โดยผู้ฟ้อง หรือโจทก์ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ จำนวนเงินเอาประกัน ๑๒๐,๐๐๐ บาท กำหนดเวลา ๒๑ ปี โดยมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายเงินคืนให้ผู้เอาประกันภัยล่วงหน้าทุก ๓ ปี คือได้รับเงินร้อยละ ๑๐ ของทุนประกัน หรือ ๑๒,๐๐๐ บาท และงวดสุดท้ายจะได้รับเงินร้อยละ ๑๔๐ ของทุนประกัน คือ ๑๖๘,๐๐๐ บาท แต่เมื่อใกล้ครบสัญญา บริษัทฯ แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินงวดสุดท้าย ๑๔๓,๔๐๐ บาท โดยน้อยกว่าที่ตกลงไว้ ๒๔,๖๐๐ บาท เมื่อโจทก์ทักท้วงก็ได้รับการปฏิเสธ ซึ่งถือเป็นการผิดสัญญา จึงร้องให้บริษัทฯ ชำระเงิน ๒๔,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันครบกำหนดสัญญาจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ

อย่างไรก็ตาม บริษัทปฏิเสธใบเสนอขายดังกล่าว โดยอ้างว่าไม่ใช่เอกสารของบริษัทฯ โดยในศาลชั้นต้นได้ทำการยกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิจารณาว่า ต้องจ่ายผลประโยชน์เมื่อครบกำหนดสัญญาเป็นเงินเอาประกันภัยล่วงหน้าในอัตราร้อยละ ๑๔๐ ของจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยให้บริษัทฯ ชำระเงิน ๒๔,๖๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ

ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการขอขยายฎีกาโดยบริษัทฯ

พิมพ์ อีเมล