มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องหน่วยงานรัฐแก้ปัญหาผู้บริโภคใน ๑ เดือน

baby1
จากกรณีห้างเซ็นทรัล เวสต์เกตขายของหมดอายุ บริษัทนำเข้ายอมรับผิดชดใช้ค่าสินค้า ส่วนห้างใหญ่และหน่วยงานรัฐเงียบฉี่ ไม่ตอบกลับหนังสือ มูลนิธิฯ เสนอแก้ปัญหาของผู้บริโภคให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน

จากกรณีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยข้อมูลเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า มีผู้บริโภคซื้อของเล่นเด็ก ที่มีลักษณะคล้ายเครื่องสำอางจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต นนทบุรี แล้วพบว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ นั้น

นางสาวสิตา ศิตลักษ์ ผู้ร้องเรียน ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกประหลาดใจว่า ห้างสรรพสินค้าปล่อยให้ขายของหมดอายุอยู่ได้อย่างไร ทั้งที่เซ็นทรัลฯ เป็นห้างขนาดใหญ่ รู้สึกว่าน่าจะขายของมีคุณภาพ อย่างของเล่นเด็กที่มีขายอยู่ทั่วไปตามตลาด ไปซื้อที่เซ็นทรัลฯ เพราะคาดหวังว่าสินค้าจะได้รับการตรวจสอบแล้วมีมาตรฐานที่ปลอดภัย

“มันไม่ควรเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะเราก็ไม่อยากให้มีเด็กคนไหนเอาของเล่นไปเล่นแล้วเกิดอาการแพ้ขึ้นมา และถึงแม้บริษัทผู้นำเข้าสินค้าจะชดใช้ค่าเสียหายมาตามราคาที่ซื้อ แต่ที่เราต้องการจริงๆ คือ อยากให้หน่วยงานรัฐเข้มงวดกับบริษัทเหล่านี้ ให้ดำเนินการเอาผิดกับบริษัทผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายสินค้าที่หมดอายุ เราอยากเห็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้อีก อย่างถ้าสินค้าเป็นเครื่องสำอางก็ควรไปจดแจ้งให้ถูกต้อง หรือหน่วยงานที่ดูแลเรื่องของเล่นก็ควรตรวจสอบ” ผู้ร้องเรียน กล่าว

ด้าน นายพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวว่า ขณะนี้เวลาผ่านไปเกือบ ๒ เดือนแล้ว แต่ทางมูลนิธิฯ ก็ยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเพียงจดหมายจากบริษัท โซลิดเอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด หรือบริษัทนำเข้าสินค้าดังกล่าวเท่านั้น โดยแจ้งว่าได้เยียวยาให้ผู้บริโภคในมูลค่าตามที่ซื้อมา

“เรายังไม่เห็นความรับผิดชอบของหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับเรื่องนี้ว่าได้ดำเนินการอะไรไปบ้าง เราเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคภายใน ๓๐ วัน และบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานอย่างเคร่งครัด” ผู้ช่วยเลขาฯ กล่าว

และว่า “จากจดหมายแจ้งผลการเยียวยาของบริษัทผู้นำเข้ายังเจอปัญหาเรื่องฉลากขนาดเล็ก เลยมองไม่เห็นว่าสินค้าดังกล่าวหมดอายุ มูลนิธิฯ ขอให้ผู้ประกอบการเร่งทำฉลากให้อ่านง่ายในสินค้าทุกประเภท โดยตัวหนังสือเห็นได้ชัดเจน คือขนาดตัวพยัญชนะต้องมีขนาดไม่ต่ำกว่า ๒ มิลลิเมตร”

พชร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางด้านห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลฯ ยังไม่ได้มีการตอบจดหมายใดๆ ทั้งที่ควรรับผิดชอบด้วย

ทั้งนี้ บริษัท โซลิดฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการดำเนินการเยียวยาและตรวจสอบข้อร้องเรียนกลับมายังมูลนิธิฯ ข้อความระบุว่า ...บริษัทฯ ยอมรับว่าสินค้าชิ้นนั้นหมดอายุจริง และได้เรียกเก็บคืนทุกสาขาที่มีสินค้ารหัสนี้มานานแล้ว แต่ที่สาขาเซ็นทรัล เวสต์เกต บริษัทฯ ขาดพนักงานประจำจุดขาย และฉลากที่ติดมีขนาดเล็กมาก อาจจะทำให้การจัดเก็บและส่งไปจำหน่ายหรือการเรียกกลับคืนมีความไม่ชัดเจน จึงทำให้สินค้าตัวนี้ตกค้างที่สาขา และบริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบภายใน พบว่าสินค้าชิ้นนี้มีสติ๊กเกอร์ระบุวันหมดอายุที่มีขนาดที่ค่อนข้างเล็กคือ ๑*๒ เซนติเมตร จึงทำให้มีข้อผิดพลาดในการบริหารจัดการเก็บสินค้า จึงได้ปล่อยสินค้าชิ้นนี้ออกไป

baby2
อย่างไรก็ดี สินค้าชิ้นดังกล่าวพบว่าหมดอายุก่อนที่บริษัท โซลิดฯ ได้นำเข้ามา
ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ ระบุว่า ผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากตามมาตรา ๓๐ โดยไม่มีฉลาก หรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นการกระทำของผู้นำเข้ามาขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วน พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา ๗๙ ระบุว่า ผู้ใดขายเครื่องสำอางที่หมดอายุการใช้อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๓๒ (๖) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หากเป็นการกระทำของผู้นำเข้าเพื่อขาย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท

รวมถึงอาจเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๕๑ เรื่องนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานเข้าประเทศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

baby3นอกจากนี้ ภายหลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิฯ ทำหนังสือเรื่อง ขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และบริษัท โซลิด เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด โดยมีเพียงบริษัท โซลิดฯ แห่งเดียวเท่านั้นที่แจ้งผลการดำเนินการกลับมา

พิมพ์ อีเมล