จากกรณีกรุงเทพมหานคร โดยกระทรวงมหาดไทย พยายามผลักดันประเด็นเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) บริษัทในเครือ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เข้าสู่วาระการพิจารณาของการประชุมคณะรัฐมนตรีอยู่เป็นระยะ ทั้งที่สัมปทานฉบับดังกล่าวจะหมดอายุในปี 2572 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า หากต่อสัญญาสัมปทานใหม่ จะมีระยะเวลา 37 ปี จึงนำมาสู่คำถามจากสังคมว่า ทำไมกรุงเทพมหานครจึงต้องเร่งพิจารณาการต่อสัญญาสัมปทานดังกล่าวโดยไม่มีการศึกษาทบทวนปัญหาและผลกระทบอย่างรอบด้าน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่เป็นผู้ใช้บริการต้องแบกรับภาระค่าโดยสารแพง
วันนี้ (10 มีนาคม 2565) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน ศูนย์สิทธิผู้บริโภค และชมรมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในกรุงเทพมหานคร เดินทางเข้ายื่นหนังสือ โดย กทม. ส่งนางอรกัญญา บุณยมหาศาล ผู้อำนวยการส่วนเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มารับหนังสือและแจ้งกับ มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนว่า จะเรียนท่านผู้ว่าฯ และรีบดำเนินการตามที่ร้องขอ
มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชน มีความประสงค์ขอเอกสารและขอทราบรายละเอียดสัญญาระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ BTSC และขอเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญา เพื่อเป็นข้อมูลกรณีศึกษา เผยแพร่ให้ผู้บริโภคที่ใช้บริการได้รับทราบตามสิทธิอันพึงมีตามกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นการส่วนรวม เนื่องจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นบริการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน และรัฐควรเปิดเผยข้อมูลการทำสัญญาการเดินรถให้กับประชาชนรับทราบ เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำสัญญาข้างต้น หลังจากนี้หากยังไม่ได้รับเอกสารรายละเอียดสัญญา มพบ. และเครือข่ายภาคประชาชนจะตามเรื่องอีกครั้งในวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2565