มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มสามล้อเสียดายไม่ได้เข้าพบ เหตุตำรวจสอบสวนกลางไม่สะดวก ย้ำเร่งรัดให้ผู้บัญชาการฯ ดำเนินคดีฉ้อโกง 'โครงการสามล้อเอื้ออาทร' โดยเร็วที่สุด ผ่านมา 3 ปี แต่คดียังไม่คืบหน้า ทำให้ผู้เสียหายเดือดร้อนเพราะโดนฟ้อง ชี้ขอเข้าพบอีกครั้งเมื่อสถานการณ์โควิดดีขึ้น
จากกรณีฉ้อโกง 'โครงการสามล้อเอื้ออาทร' ที่มีความเป็นมาจากกลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างกู้เงินซื้อรถสามล้อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด โดยมีธนาคารออมสินเป็นแหล่งเงินกู้ ทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยผู้กู้เงินทุกรายไม่ได้รับเงินจากธนาคารฯ แต่อย่างใด กลุ่มผู้เสียหายทราบจากใบสรุปการจ่ายสินเชื่อที่สหกรณ์ฯ เป็นผู้จัดทำว่า เป็นหนี้ 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างกลับถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงินแต่ละรายไม่เท่ากัน ตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จากการจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องพบว่า มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์บริการจักรเพชร รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 กลุ่มผู้เสียหายจึงเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และ มพบ. ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาเจรจา แต่ธนาคารออมสินและสหกรณ์ฯ ไม่แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 มพบ. เป็นตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับธนาคารออมสินและสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานฉ้อโกงประชาชน กับผู้บังคับการกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ต่อมาวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 กองปราบปรามแจ้งว่าส่งเรื่องให้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และกำลังดำเนินการ วันที่ 26 มิถุนายน 2562 มพบ. พาผู้เสียหายบุก บช.ก. ยื่นหนังสือเพื่อถามถึงความคืบหน้าคดีและขอให้เร่งรัดคดี รวมทั้งแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 บช.ก. มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน และได้มีการสอบสวนผู้เสียหายแต่ละราย รวมถึงตรวจสอบรถสามล้อ จนในปี 2563 ได้รับคำตอบจาก บช.ก. ว่า เจ้าหน้าที่ธนาคารออมสินเป็นเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายหลังได้ประสานไปที่ ป.ป.ช. แจ้งว่าส่งคดีกลับมาที่ บช.ก. แล้ว
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 มพบ. และตัวแทนผู้เสียหาย ได้เข้าพบผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อติดตามความคืบหน้าถึงการดำเนินคดี และได้รับการแจ้งความคืบหน้าตามหนังสือที่ ตช.00269/1358 ฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2564 ว่า ป.ป.ช. ได้มีมติส่งเรื่องคืนมายัง บช.ก. ซึ่งจะเร่งรัดการดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด ตามที่ได้แจ้งไว้นั้น สุดท้ายคดีก็ยังไม่คืบหน้าจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเวลาผ่านมาเกือบ 1 ปีจากความคืบหน้าล่าสุด มพบ. และผู้เสียหายยังไม่ทราบความคืบหน้าคดี วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มพบ. และตัวแทนผู้เสียหาย จึงส่งหนังสือขอเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อติดตามความคืบหน้าคดี ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 แต่เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางส่งหนังสือ โดยมีเนื้อหาว่า ได้รับแจ้งจากพลตำรวจตรี สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าว แจ้งว่ายังไม่สะดวกในการให้เข้าพบ เนื่องจากตามวันเวลาดังกล่าวมีภารกิจเข้าร่วมประชุมและเปิดศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ตามนโยบายของรัฐบาล ทำให้ มพบ. และผู้เสียหายไม่ได้เข้าพบจากสาเหตุดังกล่าว
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2565) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า การแจ้งความดำเนินคดีอาญากับธนาคารและสหกรณ์ ผ่านมาแล้วกว่า 3 ปี ตั้งแต่ที่ไปแจ้งความเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 61 โดยขณะนี้ บช.ก. เป็นผู้ดำเนินการแต่ยังไม่มีความคืบหน้า มพบ. จึงขอเข้าพบเพื่อติดตามความคืบหน้า เนื่องจากระยะเวลาที่นานมาก และ บช.ก. ยังไม่ดำเนินคดีทำให้ผู้เสียหายยิ่งได้รับความเดือดร้อนจากการที่ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร ฟ้องคดีอาญาอ้างเหตุโกงเจ้าหนี้ ขณะที่ธนาคารออมสินก็ฟ้องคดีแพ่งให้ชำระหนี้ เพื่อยึดทรัพย์สินลูกหนี้ ทั้งที่ผู้เสียหายไม่ได้รับเงินตามนั้น
“ถึงวันนี้จะไม่ได้เข้าพบ เพราะ บช.ก. ยังไม่สะดวก แต่ทางมูลนิธิฯ ก็ยังคาดหวังให้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเร่งรัดดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด ถ้าสถานการณ์โควิดดีขึ้น มูลนิธิฯ และผู้เสียหายจะขอเข้าพบผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อสอบถามติดตามความคืบหน้าคดีนี้ต่อไป” นางนฤมลกล่าว