มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนระวังการซื้อซิมกับตัวแทนจำหน่ายในร้านค้าออนไลน์ พบผู้บริโภคร้องซื้อซิมรายปี แต่ใช้ได้แค่ครึ่งวัน! ตรวจสอบพบเป็นซิมใช้เน็ตได้ 2 GB ใน 7 วัน ไม่ตรงตามที่โฆษณา มูลค่าจริง 49 บ. ขายในราคา 1,369 บ. ชี้แพลตฟอร์มออนไลน์และเครือข่ายมือถือควรตั้งหลักเกณฑ์ของผู้ขายและจัดการผู้กระทำผิด
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ผู้เสียหายซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากร้านค้าออนไลน์ที่ใช้ชื่อว่า Sim Speed up ซึ่งขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ในราคา 1,369 บาท โดยทางร้านค้าให้เป็นรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ตอนค่ำของวันที่สั่งซื้อสินค้าผู้ร้องได้ส่งข้อความผ่านร้านค้าในเรื่องการที่ยังไม่ใช้งานภายใน 1 เดือน ร้านค้าตอบว่า ซิมลงทะเบียนให้แล้วและสามารถใช้งานได้เป็นเวลา 1 ปี หลังจากที่ได้เข้าแอปพลิเคชันของการใช้งานซิม ในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ผู้ร้องได้รับสินค้า ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 จึงพบปัญหาที่ซิมไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล เมื่อทำตามขั้นตอนที่ให้มาพร้อมตัวซิม พบว่าซิมนี้ชื่อรุ่น กัมพูชา 5G สามารถใช้เน็ตได้ 7 วัน ในปริมาณ 2 GB ผู้ร้องต่อผ่านแอปฯ แล้วใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ใช้ต่อเนื่องได้อีก ผู้ร้องพยายามส่งข้อความไปถามร้านค้าและโทรศัพท์ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุไว้แต่ไม่มีผู้รับสาย ผู้ร้องจึงได้ติดต่อศูนย์บริการของ Lazada ต่อมาทาง Lazada ให้ส่งรายละเอียดข้อความที่โต้ตอบกันระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายไปให้ แต่สรุปตอบกลับว่า สินค้านี้หมดประกันแล้ว เพราะได้รับสินค้าตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2564 ลูกค้าต้องติดต่อกับทางร้านค้าเอง
ผู้ร้องเห็นว่า Lazada มองประเด็นปัญหาผิดไป เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นประเด็นเกี่ยวกับการรับประกันสินค้า แต่เป็นเรื่องของการไม่สุจริตของร้านค้ารายนี้ ร้านค้าไม่แก้ไขปัญหาให้ลูกค้าใช้งานได้ เพราะสิ่งสำคัญที่ผู้ร้องทราบจากทรูในฐานะเจ้าของผลิตภัณฑ์ซิมนี้ คือ ซิมนี้เป็นซิมที่มีราคาเพียง 49 บาท แต่ทางร้านค้านำมาขายในราคาสูง โดยอาศัยช่องทางแพลตฟอร์มร้านค้าที่มีชื่อเสียงโฆษณาขายสินค้าโดยไม่สุจริต Lazada ควรให้ความคุ้มครองลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบร้านค้าได้ หรือมีหลักเกณฑ์มาตรการให้ร้านค้ารับผิดชอบต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ข้อมูลของร้านค้ามีแต่เบอร์โทรศัพท์ที่ไม่สามารถติดต่อได้ หรือทาง Lazada เองก็ไม่ประสานงานให้ลูกค้าได้พูดคุยกับร้านค้าเพื่อแก้ปัญหา
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ มีผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการซื้อซิมในเพจต่างๆ และข้อความโฆษณาซิมที่มีโปรโมชัน “อินเทอร์เน็ตไม่ลดความเร็ว ได้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก เป็นระยะเวลา 1 ปี” และจูงใจด้วยราคาถูก
ในกรณีร้องเรียนนี้แจ้งไปที่แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada แต่แพลตฟอร์มไม่ยอมดำเนินการจัดการปัญหา โดยให้เหตุผลว่า แจ้งเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ให้เรียกร้องแล้ว เช่น ต้องคืนสินค้าที่มีปัญหาภายใน 14 วัน ซึ่งปัญหามิจฉาชีพขายของในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ แพลตฟอร์มควรตรวจสอบระบบการร้องเรียนของผู้ที่ซื้อสินค้า ไม่ใช่ว่าเกินเวลาแล้วจะไม่รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเลย ส่วนบริษัททรูมูลนิธิฯ แจ้งให้ชดเชยความเสียหายและขอให้ตรวจสอบตัวแทนจำหน่ายสินค้าในการขายผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีมาตรการในการจัดการกับตัวแทนจำหน่ายที่ไม่สุจริต เพื่อติดตามเอาผิดเพื่อมิให้มิจฉาชีพเลิกหลอกลวงประชาชน ทั้งที่อยู่ในและนอกแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะบริษัทก็เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นเจ้าของเครือข่ายมือถือของซิมนั้นๆ
นางนฤมล กล่าวอีกว่า มาตรการป้องกันและจัดการมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้านั้น แพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ อย่าง Lazada, Shopee และแพลตฟอร์มอื่นๆ ควรมีหลักเกณฑ์หรือกำหนดกรอบของผู้ขาย ถ้าผู้ขายมีปัญหากับผู้บริโภค แพลตฟอร์มจะดำเนินการตรวจสอบหรือเป็นคนกลางในการเรียกให้ผู้ขายชดใช้หรือรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างไร การไม่รับผิดชอบในกรณีดังกล่าวจะกลายเป็นช่องทางที่มิจฉาชีพเอาเปรียบผู้บริโภคได้ เพราะผู้บริโภคจะได้รับความเสียหายหลังจากใช้สินค้า และขอฝากถึงบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกค่าย ต้องคัดกรองผู้แทนจำหน่ายซิมโทรศัพท์ ควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการเป็นตัวแทนจำหน่าย และมีมาตรการจัดการตัวแทนจำหน่ายที่กระทำผิด เนื่องจากการที่ตัวแทนจำหน่ายซิมกระทำการโฆษณาที่น่าจะเข้าข่ายหลอกขายสินค้าหรือทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดนั้นเป็นประเด็นที่ไม่พ้นความรับผิดของบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน