มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ M-Flow ทางด่วนจ่ายอัตโนมัติ เพิ่งเปิดระบบใหม่แต่คิดค่าปรับถึง 10 เท่า ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ข้อมูลต้องจ่ายค่าปรับนั้นไม่เป็นธรรม อีกทั้งระบบยังขาดการประชาสัมพันธ์ แนะควรประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงและชัดเจน
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 กรมทางหลวง เปิดระบบ M-Flow ทางด่วนเก็บเงินอัตโนมัติแบบไร้ไม้กั้น บนมอเตอร์เวย์สาย 9 ด่านเก็บเงินธัญบุรี และด่านเก็บเงินทับช้าง ทั้งขาเข้าและขาออก รวม 4 ด่าน ภายใต้โมเดล วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง เพื่อลดรถติดหน้าด่านเก็บเงิน ทว่ากลับสร้างปัญหาจากการไม่ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง สั่งปรับประชาชนหนักถึง 10 เท่า หากไม่จ่ายภายใน 2 วัน ประชาชนหลายรายออกมาเปิดเผยว่าถูกเก็บค่าปรับ เพราะไม่รู้ว่าต้องชำระเงินในกี่วัน เนื่องจากประชาสัมพันธ์น้อย ในใบปลิวที่แจกให้ไม่ระบุว่าต้องชำระอย่างเร็วที่สุดในกี่วัน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากนั้น
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ระบบ M-flow เพิ่งเปิดระบบใหม่แต่คิดค่าปรับถึง 10 เท่าหากไม่จ่ายภายใน 2 วัน บีบให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ต้องจ่ายค่าปรับแบบนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ระบบในขณะนี้ยังเหมือนเปิดเพื่อทดลองระบบ เพราะเปิดเพียงแค่ 4 ด่าน อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่รู้ข่าวสาร โดยไม่แจ้งว่าต้องชำระภายในกี่วันให้ชัดเจน การที่ผู้บริโภคจ่ายเลยเวลาที่กำหนดไม่ได้หมายความว่าจะไม่จ่าย ก็ควรจะมีระบบแจ้งเตือนให้จ่ายก่อนที่ต้องจ่ายค่าปรับ ซึ่งมีแจ้งเตือนเฉพาะคนที่เป็นสมาชิก ส่วนคนที่ไม่เป็นสมาชิกจะทำหนังสือแจ้งส่งให้ทางที่อยู่ตามบัตรประชาชน ซึ่งอาจจะไม่ทันตามเวลาที่กำหนด และการคิดค่าปรับถึง 10 เท่ายังเป็นภาระในการจ่าย เป็นการคิดค่าปรับที่สูงกว่าเบี้ยปรับตามกฎหมายทั่วไป หรือ ตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ 2558 ที่กำหนดให้การคิดค่าติดตามทวงถามหนี้ต้องมีหนี้ค้างเกิน 1 งวด
การเปิดระบบ M-flow ที่เพิ่งมีครั้งแรกและเพิ่งเปิดใช้บริการ ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลไว้เบื้องต้นถึงการใช้ระบบช่องทางนี้ก่อน รวมถึงมาตรการการจ่ายค่าปรับและต้องจ่ายภายในระยะเวลาเท่าไร แต่เพราะขาดกระบวนการประชาสัมพันธ์และขาดการทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ทำให้ประชาชนหลายคนเข้าใจผิด ไม่รู้ข้อมูลที่ชัดเจน และหากจะลงทะเบียนระบบ M-flow ก็มีขั้นตอนการสมัครที่ยุ่งยาก แค่จะผ่านทางแต่ต้องใช้เอกสารลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดที่อยู่ตามทะเบียนบ้านและที่อยู่ปัจจุบัน ข้อมูลรายละเอียดของรถ ภาพถ่ายเล่มทะเบียนรถ ภาพถ่ายด้านหน้ารถ และภาพถ่ายด้านหลังรถ (ถ้ามี) ขอข้อมูลเหมือนกับไปกู้ยืมสินเชื่อเลย ถ้าเทียบกับ easy pass ยังมีความยุ่งยากน้อยกว่า ขั้นตอนการสมัครน้อยกว่า ใช้เอกสารเพียงบัตรประชาชนเท่านั้น ซึ่งขั้นตอนที่ยุ่งยากของ M-flow นี้อาจทำให้หลายคนไม่ได้สมัครจนเลยกำหนดเวลาที่ต้องจ่าย ทำให้ต้องจ่ายค่าปรับ 10 เท่าที่ไม่เป็นธรรม
หากผู้บริโภคพบปัญหาดังกล่าว สามารถติดต่อสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai ช่องทาง inbox FB เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/