มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่ง อย. แถลงยี่ห้อและแหล่งผลิตไส้กรอกพิษ เหตุไม่เปิดเผยการจับกุม 2 โรงงานผลิตเมืองกรุงเก่า

ภาพข่าวไส้กรอก 01

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่ง อย. แถลงยี่ห้อและแหล่งผลิตไส้กรอกพิษ เพื่อเป็นข้อมูลเลือกซื้อสินค้าให้ปลอดภัย หลัง อย. จับกุม 2 โรงงานผลิตไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ. 65 แต่ยังไม่เปิดเผยกับผู้บริโภค หวั่นสร้างผลกระทบวงกว้าง

          จากข่าวพบไส้กรอกผลิตไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เด็กที่รับประทานเข้าไปได้รับอันตรายต่อร่างกาย ดังที่ปรากฎเป็นข่าวเมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้กองระบาดวิทยา แจ้งว่าผู้ป่วยที่ จ.เชียงใหม่ กินไส้กรอกไก่ที่มีแหล่งผลิตจากอยุธยา ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 Mon News Agency สื่อท้องถิ่นในรัฐมอญรายงานว่า เด็กในเมืองพญาตองซู เขตเมืองจ่ออินเซกจี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่าถูกนำส่งโรงพยาบาลรวมทั้งหมด 16 ราย เสียชีวิต 1 ราย หลังกินไส้กรอกที่ผลิตในประเทศไทย บนถุงไส้กรอกมีฉลากเป็นภาษาไทย ระบุแหล่งผลิตที่จ.ชลบุรี ประเทศไทย (ข่าวจาก สำนักข่าวชายขอบ https://transbordernews.in.th/home/?p=30572&fbclid=IwAR1MlpsDM9b0jSzR7WtuWxbUrtMNslrcBC_74kv4ozaEyrJtDJS7XN1yLAY)

          อีกทั้ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เภสัชกร เทพศักดิ์ อังคณาวิศัลย์ รอง.นพ.สสจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ, สาธารณสุขอำเภอบางปะอิน, เจ้าหน้าที่เทศบาลพระอินทร์ราชา, เจ้าหน้าที่เทศบาลเชียงรากน้อย และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระอินทร์ราชา ร่วมกันลงตรวจสอบสถานที่ผลิตและจำหน่ายอาหาร ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ แหนม ผลิตโดย บริษัท พีเอเอ็น ฟู๊ด มาเก็ตติ่ง จำกัด จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า มีการผลิตและจำหน่ายอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาหาร ได้ทำการตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ และ อายัดสถานที่ผลิตอาหาร ได้แก่ เครื่องจักร 10 รายการ และของกลาง ได้แก่ ไส้กรอก หมูยอ และลูกชิ้น รวมจำนวน 1,352 กก. รวมมูลค่า 806,080 บาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จะดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์/กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

          และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ยังมีรายงานแจ้งถึงการจับโรงงานไส้กรอกไก่ที่มีแหล่งผลิตจากอยุธยาอีกแห่ง หลังพบว่าผู้ป่วยรายหนึ่งจากจังหวัดเชียงใหม่ได้กินไส้กรอกจากแหล่งผลิตดังกล่าวว่า นายประทีป การมิตรีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายยุทธนา วรรณโพธิ์กลาง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ภก. เทพศักดิ์ อังคณาวิศัลย์ รอง.นพ.สสจ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ, เภสัชกรกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคฯ, สาธารณสุขอำเภอบางปะอิน, เจ้าหน้าที่เทศบาลเชียงรากน้อย และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พระอินทร์ราชา ร่วมกันลงตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ได้แก่ ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ ณ บ้านเลขที่ 59/2 หมู่ 5 ต.เชียงรากน้อย อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า มีการผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงฉลากอาหารไม่ถูกต้อง พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.อาหาร ได้ทำการตรวจสอบ พร้อมเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์  จำนวน 3 รายการ และ อายัดสถานที่ผลิตอาหาร ได้แก่ เครื่องจักร 24 รายการ รวม 439 แรงม้า และของกลาง ได้แก่ ไส้กรอกและหมูยอ รวมจำนวน 2090 กก. วัตถุดิบ 23,073 กก. รวมมูลค่า ประมาณ 3.5 ล้านบาท สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ได้ดำเนินการลงบันทึกประจำวันเรียบร้อยแล้วและจะแจ้งความร้องทุกข์/กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

          วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2565) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาไส้กรอกที่ไม่มีคุณภาพจากโรงงานผลิตไม่ได้มาตรฐาน หากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบแล้ว อยากให้ อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับและดูแลในเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ควรออกมาเปิดเผยหรือแถลงข่าวให้เร็วที่สุด ถึงยี่ห้อหรือแหล่งผลิตของไส้กรอกที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากรับทราบข้อมูลว่า อย. ได้เคยลงไปตรวจสอบโรงงาน เมื่อวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่อยุธยา แล้วพบโรงงานผลิตไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน แต่ยังไม่ได้ออกมาเปิดเผยหรือแถลงข่าว เนื่องจากปัจจุบันพบผู้เสียชีวิตจากไส้กรอกอันตราย การที่ไม่รีบออกมาแจ้งให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันยิ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบมากขึ้น และเป็นการสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง เพราะยังไม่มีระบบกวาดสินค้าคืน เวลาที่โรงงานผลิตที่ไม่มีคุณภาพในลักษณะนี้ขายไปแล้ว จะไม่มีข้อมูลของบริษัทที่ขายสินค้าไป ต่างจากการซื้อในระบบบริษัทที่จะมีต้นตอของสินค้าว่าส่งไปให้ที่ใดบ้าง การที่ไม่รู้ว่าไส้กรอกอันตรายถูกขายไปที่ไหนบ้าง ทำให้ผู้บริโภคยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น

          การแถลงข่าวของ อย. เรื่องยี่ห้อและแหล่งผลิตของไส้กรอกที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคมาก ทำให้ประชาชนมีข้อมูลไปตรวจสอบและเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดภัยได้ รวมทั้งให้ข้อมูลแม่ค้าพ่อค้าที่ขายไส้กรอกไม่ให้เอายี่ห้อนั้นๆ มาขายให้ลูกค้า แล้วยังสามารถทำให้ผู้บริโภคตระหนักและเฝ้าระวังการซื้อสินค้าได้มากขึ้น โดยให้ อย. เป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้บริโภคที่พบปัญหารายงานสถานที่ขายไส้กรอกที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

          ทั้งนี้ปัญหาผู้ป่วยจากการรับประทานไส้กรอกพบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2550 เกิดเหตุการณ์เด็กนักเรียนที่จังหวัดอยุธยาจำนวนหลายรายเจ็บป่วย เนื่องจากพิษไนไตรท์ภายหลังจากรับประทานไส้กรอก โดยผู้ป่วยมีอาหารหน้าซีด เหนื่อย ปากซีดเขียว อาเจียน ถ่ายเหลวเป็นน้ำ แพทย์วินิจฉัยว่าเกิดจากภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย (methemoglobinemia) ภาวะกระแสเลือดมีความเข้มข้นของเมธฮีโมโกลบินมากกว่าปกติซึ่งทำให้เนื้อเยื่อและอวัยวะภายเกิดภาวะขาดออกซิเจน จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ อาการที่สงสัยคือ ไส้กรอกจากการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการของสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร พบปริมาณไนไตรท์ 3,137.25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงเกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 (พ.ศ. 2547) ถึง 25 เท่า

          หากมีข้อสงสัยหรือต้องการร้องเรียน สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai ช่องทาง inbox FB เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

447338

447359

447371

693254

693257

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, อย., ไส้กรอก, ไม่ได้มาตรฐาน, โรงงานผลิตไส้กรอก

พิมพ์ อีเมล