มพบ. สอบ. ร่วมเสนอการแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายกับค่ายมือถือจริงจัง พร้อมเปลี่ยนมุมมองการคุ้มครองผู้บริโภค

ภาพข่าวแก้ไขปัญหา SMS 2 01

มพบ. สอบ. ร่วมเสนอการแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวงในการเสวนาออนไลน์ ชี้รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง แนะค่ายมือถือร่วมมือและเปลี่ยนมุมมองการคุ้มครองผู้บริโภคใหม่ ตั้งคำถามทำไมแอปบล็อกได้แต่ค่ายมือถือบล็อกไม่ได้ ด้านผู้ก่อตั้งโคแฟค แนะให้ทำระบบรายงานเบอร์หรือ SMS จากมิจฉาชีพ ส่งข้อมูลเพื่อบล็อกต้นทาง ส่วนกรรมการ กสทช. เสนอห้ามให้ตั้งชื่อเองในการส่ง SMS และโทรทาง VoIP ป้องกันการปลอมเป็นบริษัทอื่น

          เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ผู้ก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย และตำรวจไซเบอร์ ร่วมพูดคุยและหาหนทางแก้ปัญหา เรื่อง SMS หลอกลวง ป้องกันอย่างไร ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อออนไลน์ ในรายการเสวนาออนไลน์ Consumers Today บนแอปพลิเคชันคลับเฮ้าส์ จึงรวบรวมประเด็นข้อเสนอต่างๆ ของแต่ละองค์กรในการแก้ไขปัญหา SMS หลอกลวง ทั้งสำหรับผู้บริโภคและสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเสวนาครั้งนี้

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า มูลนิธิฯ รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ SMS เป็นจำนวนมากในปีที่แล้ว ข้อความที่ส่งมาพร้อมลิงก์ชวนให้หลงเชื่อทั้งนั้นเลย ในเรื่องนี้ถือว่า เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามการคุ้มครองผู้บริโภคมีกฎหมายเรื่องการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งลักษณะของการส่งข้อความโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นเป็นการเอาเปรียบ ใครจะส่ง SMS มาต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ใช้บริการก่อน

          เรื่องของการแก้ไขปัญหามูลนิธิฯ ใช้วิธีการในส่วนของผู้บริโภคคือ การพยายามให้ความรู้ การให้ข้อมูลผู้บริโภคเรื่องปัญหาและสิ่งที่เกิดขึ้น เตือนภัยผู้บริโภค และอยากให้ผู้บริโภคที่เกิดปัญหาร้องเรียน จะได้ช่วยกันดูว่าปัญหาที่รัฐสั่งได้รับการแก้ไขแล้วหรือยัง มาตรการของรัฐที่มีการบังคับใช้กฎหมายที่ออกมาแล้วมีความสำคัญมาก เพราะผู้บริโภคบางรายไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลก่อนแล้วเกิดปัญหาตามมา ก็จะสร้างผลกระทบมากขึ้น จึงเกิดความคิดว่าควรจะมีระบบป้องกันคนที่ส่ง SMS มาโดยไม่ได้รับอนุญาต การแก้ไขอีกทางหนึ่งคือ รัฐต้องบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการดำเนินธุรกิจที่เอาเปรียบผู้บริโภค กฎหมายชัดเจนแต่ยังไม่เห็นมาตรการนี้ในการบังคับใช้กฎหมาย หากดำเนินการจริงจัง SMS ที่ส่งมารบกวนหรือสร้างปัญหาก็จะน้อยลง ปัจจุบันผู้บริโภคต้องดูแลตัวเองด้วยการโหลดแอปพลิเคชันบล็อกการโทร ก็เกิดคำถามว่าทำไมแอปฯ บล็อกได้ แต่ผู้ให้บริการกลับบล็อกไม่ได้ ในส่วนนี้ต้องฝาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ทำไมต้องรอให้ผู้บริโภคจัดการเอง ในเมื่อรัฐมีหน้าที่ช่วยผู้บริโภคจัดการปัญหา เพราะมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายโดยตรง ปัจจุบันพบปัญหาแต่ผู้บริโภคบางคนอาจจะท้อถอยที่จะร้องเรียน รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดการไม่ให้มีปัญหาลักษณะนี้เข้ามาอีกและหมดไป

          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า สอบ. หวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เพราะประธานกสทช.เข้าไปดำรงตำแหน่งในฐานะด้านคุ้มครองผู้บริโภค ขณะนี้ภารกิจหลักของ กสทช. น่าจะเป็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน การคุ้มครองข้อมูลข่าวสารของบุคคล เชื่อว่าเรื่อง SMS สามารถทำได้เลยและอยากเห็นการปรับทางปกครองได้แล้ว ถ้าผู้ให้บริการไม่ดำเนินการก็ปรับรายวันตามมาตรการ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นการจัดการตามมาตรการดังกล่าว ถ้าบังคับใช้จริงจัง ผู้ให้บริการต้องจ่ายค่าปรับแล้ว อีกทั้งในการเสวนาครั้งนี้ กสทช. และบริษัทผู้ให้บริการก็ไม่มาร่วมด้วย สอบ. อยากเห็นความร่วมมือถ้วนหน้าจากผู้ให้บริการ และเปลี่ยนมุมมองการคุ้มครองผู้บริโภคใหม่กับผู้ประกอบการที่สนใจด้านเดียว ผู้ให้บริการได้ประโยชน์โดยตรงจากการส่ง SMS ขนาดใหญ่ของบริษัทที่โทรมารบกวน จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบ ปัญหาการหลอกลวงให้เสียทรัพย์จาก SMS และการโทรจากมิจฉาชีพ สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคในภาพรวม บางคนอาจโอนไปแค่หลักร้อย แต่จำนวนของผู้ใช้โทรศัพท์คือ 60 ล้านเลขหมาย เมื่อรวมแล้วเป็นค่าเสียหายระดับพันล้านได้ ถ้าปล่อยผ่านจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการหลอกลวงมากขึ้น วิธีการก็เข้าถึงตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะช่วยกันต่อต้าน

          ส่วนกรณีโดนเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่ได้สมัครเอง เช่น ดูดวง ข่าว ผู้ให้บริการบังคับให้ต้องจ่าย แนะนำให้ผู้บริโภคไม่ต้องจ่าย และร้องเรียนกับผู้ให้บริการว่าเป็นการคิดค่าธรรมเนียมบริการที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งหน้าที่ของผู้ให้บริการควรจะเป็นผู้พิสูจน์ว่าผิดพลาดหรือถูกต้องอย่างไร และจัดการแก้ไขปัญหาให้เลย ไม่ต้องให้ไปร้องเรียนถึง กสทช. เพราะส่วนใหญ่เมื่อ กสทช. จัดการให้ ผู้ให้บริการต้องคืนค่าใช้จ่ายในส่วนนั้นให้กับผู้บริโภคทุกรายอยู่ดี

          นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้งโคแฟคประเทศไทย ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมายจริงจังไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคต้องหาทางแก้ปัญหาเอง โดยการโหลดแอปฯ Whoscall ที่มีฐานข้อมูลประชาชนที่ช่วยกันรายงานมากที่สุด เวลามีเบอร์ที่เป็นมิจฉาชีพโทรเข้ามาจะขึ้นเตือนว่าเป็นมิจฉาชีพ ตัดปัญหาได้ไม่ต้องรับสาย หรือใช้ฟังก์ชันบล็อกเบอร์นี้เลย การป้องกันไม่ให้ถูกมิจฉาชีพหลอกคือ ผู้บริโภคต้องไม่เชื่อไว้ก่อน ไม่กดลิงก์ และพยายามใช้เครื่องมือช่วยตรวจสอบ

          ทาง Whoscall เป็นแอปพลิเคชัน ไม่ได้เป็นผู้ให้บริการมือถือยังสามารถแจ้งเตือนได้ แล้วผู้ให้บริการมือถือที่มีฐานข้อมูลและเบอร์โทรอยู่แล้ว ทำได้มากกว่าแอปฯ อีกถ้าจะทำหากจะกรอง โดยเริ่มตั้งแต่ให้คนรายงานเบอร์หรือ SMS จากมิจฉาชีพ ส่งข้อมูลเข้าระบบมากพอที่จะรู้ว่าไม่ได้เป็นการแกล้งกัน ผู้ให้บริการก็สามารถบล็อกตั้งแต่ต้นทางไม่ให้ส่งต่ออีกได้ เป็นวิธีการที่สามารถทำได้เลย เพราะในต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้ ในอังกฤษหน่วยงานคล้าย กสทช. ทำฟังก์ชันในโทรศัพท์มือถือ เมื่อได้รับ SMS หลอกลวง หรือเบอร์โทรจากมิจฉาชีพ ให้กด 7726 ในมือถือจะเป็นคำว่า SPAM เป็นการส่งรายงานไปที่ฐานข้อมูลของผู้ให้บริการมือถือ ทำให้สามารถบล็อกได้ หรือถ้าถูกหลอกไปแล้วก็มีสายด่วนให้ผู้บริโภคร้องเรียน เพื่อให้ฝ่ายกฎหมายมาจัดการแก้ไขปัญหา เป็นแบบ One Stop Service ในเชิงนโยบายต้องให้ กสทช. และผู้ให้บริการมือถือดำเนินการและประสานกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายอย่างตำรวจให้เป็นระบบถึงจะแก้ไขปัญหาที่ต้นทางได้ และอาศัยสำนึกความรับผิดชอบอย่างมากในภาคเอกชน ต้องคุ้มครองผู้ใช้บริการ ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องธุรกิจอย่างเดียว ต้องแสดงเจตจำนงค์มากกว่านี้ในการร่วมแก้ปัญหา ควบคู่ไปกับการที่ผู้บริโภคต้องช่วยเหลือตัวเองไม่ให้เป็นเหยื่อ ด้วยการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี และความรู้เท่าทัน ต้องเช็คก่อนโอน ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นปัญหาใหญ่ มีมิจฉาชีพจำนวนมากที่หลอกลวงประชาชนและมีทุกระดับ ปัญหานี้จึงควรทำให้เป็นวาระแห่งชาติ

          พ.ต.อ.กิตติศักดิ์ เที่ยงกมล รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 หรือตำรวจไซเบอร์ กล่าวว่า เมื่อได้รับความเดือดร้อนต้องเก็บข้อมูลให้เจ้าหน้าที่สืบสวนไปสู่ต้นตอ ส่วนมากมิจฉาชีพจะใช้ระบบ VoIP (การสื่อสารทางเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต) เรื่องการส่ง SMS ตำรวจพร้อมร่วมมือติดตาม แต่ส่วนที่ต้องประสานกันคือ ผู้ให้บริการที่ปล่อยให้ VoIP วิ่งเข้ามาให้เช่า SMS โดยไม่ได้กำหนดหัวข้อ SMS ต้องบังคับให้ระบุหัวข้อเพื่อดูว่าอนุญาตให้ส่งหรือไม่ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้นคือ สร้างความตระหนักรู้ บนโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตไม่มีใครใจดีเอาเงินมาให้กู้โดยไม่มีหลักค้ำประกัน อยากยืมเงินต้องเอาความน่าเชื่อถือไปคุย ฉะนั้น ต้องไม่เชื่อ ไม่รีบ แล้วก็ไม่โอน พอไม่เชื่อก็หาข้อมูลข้อเท็จจริง แล้วก็ไม่ต้องรีบมาก เอาให้ชัวร์ การที่จะยืมเงินคนอื่น ถ้าเขาให้เราโอนเงินให้ก็บอกว่าไม่กู้ เพราะกู้เงินกับธนาคารก็ไม่เคยให้จ่ายเงินก่อน

          รูปแบบของมิจฉาชีพที่มาหลอกประชาชนในขณะนี้ มีอยู่ 3 รูปแบบ แอปพลิเคชัน โทรเข้ามา และ SMS ต้องให้รัฐหาวิธีการกีดกันแอปฯ เหล่านี้ให้เร็วที่สุด ในส่วนของการโทรเข้ามา เป็นเรื่องของ VoIP ที่กสทช.ต้องดักให้อยู่ อย่าให้แปลงเบอร์ได้ ส่วน SMS ถ้าผู้ให้บริการพร้อมให้ผู้ใช้บริการกดรายงานไปยังผู้ให้บริการได้ แบบ 2-way แล้วให้รายงานไปที่กสทช. และให้รายงานมาที่ตำรวจไซเบอร์ เพื่อจัดเตรียมฐานข้อมูลของกลุ่มมิจฉาชีพ การให้เช่าต้องบอกระบุว่าให้บริการเรื่องอะไร หัวข้อการส่ง SMS คืออะไร

          และจากที่ประสานกัน กสทช.จะออกระเบียบว่า 1 คนจำกัดให้มี 5 เบอร์ต่อ 1 เครือข่ายบริการมือถือ เบอร์มือถืออาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ว่าการโกง สุดท้ายจบที่ธนาคาร ใครจะเปิดบัญชีก็ได้แล้วก็ให้ใครเอาไปใช้ก็ได้ ความสำเร็จของมิจฉาชีพอยู่ที่คนไทยที่ไปร่วมมือทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ขายบัญชีธนาคารให้เป็นบัญชีที่ไว้รอรับโอนเงินจากคนที่หลอกสำเร็จ ที่เรียกกันว่าบัญชีม้า ผู้ที่ร่วมมือเช่นนี้ถึงจะอ้างว่าไม่รู้เรื่องก็ต้องออกหมายจับ เพราะกฎหมายเขียนไว้ว่าเป็นผู้สนับสนุนอย่างชัดเจน

          นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เรื่อง SMS หรือคนโทรมาหลอกลวง ส่วนหนึ่งที่จัดการไม่ได้มาจากการบล็อก SMS ที่อาจไปบล็อก SMS OTP ด้วยเหมือนเหตุการณ์เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ทำให้เมื่อสมัครบริการที่ต้องมี OTP ยืนยันตัวตนจะทำไม่ได้ ทำให้ผู้บริโภคจะเดือดร้อนอีกทางหนึ่ง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากการสวมรอย Sender id (ชื่อคนส่ง) ยกตัวอย่าง Clubhouse เวลาสมัครจะส่ง OTP มาให้ มิจฉาชีพก็ใช้ชื่อ Clubhouse ถ้าแอปฯ ฝ่าการบล็อกได้มิจฉาชีพก็ฝ่าได้เช่นกัน อีกทั้ง จะไม่มีการบล็อก SMS ธนาคารเด็ดขาด เพราะธนาคารจะส่ง OTP สำหรับทำธุรกรรม ไม่ว่าจะบัตรเครดิต โอนเงิน ถ้าบล็อกแล้วธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทั้งประเทศจะเดือดร้อน ดังนั้น มิจฉาชีพจึงอาศัยช่องว่างนี้ตรวจสอบว่าชื่อไหนจะไม่ถูกบล็อก แล้วส่งมาในชื่อนั้น การหลอกลวงเกิดขึ้นได้เพราะตั้งชื่อปลอม จึงมีข้อเสนอว่า ผู้ให้บริการห้ามให้สิทธิในการตั้งชื่อเองกับใครทั้งสิ้น สำหรับการส่ง SMS เช่นเดียวกับการโทร มิจฉาชีพที่โทรจากต่างประเทศทาง VoIP และตั้งชื่อปลอมแปลง เช่น แปลงเป็นเบอร์ตำรวจ แปลงเป็นเบอร์แบงก์ชาติ การแก้ไขปัญหาจึงเป็นแบบเดียวกันคือ ห้ามให้ผู้ที่เชื่อมสายมาจากต่างประเทศปลอมชื่อเด็ดขาด

Tags: กสทช. , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, SMS, สภาองค์กรของผู้บริโภค, smsก่อกวน, SMSหลอกลวง, ตำรวจไซเบอร์, โคแฟค

พิมพ์ อีเมล