เตือนภัยมิจฉาชีพหลอกผู้บริโภคทำประกันภัยรถยนต์ รู้ข้อมูลลึกยันเลขตัวถังรถ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเร่งรัดตำรวจดำเนินคดีโดยด่วน

ภาพข่าวหลอกขายประกันรถ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนภัยมิจฉาชีพหลอกทำประกันภัยรถยนต์ทางโทรศัพท์ แต่ไม่ได้กรมธรรม์ พบผู้เสียหาย 14 ราย รู้ข้อมูลกรมธรรม์และรถยนต์ของผู้เสียหายละเอียด ตั้งคำถามบริษัทรถยนต์ทำข้อมูลหลุดหรือไม่ ขอเร่งรัดตำรวจดำเนินคดีโดยเร็ว ภายในเดือนนี้ถ้าไม่คืบหน้าจะไปยื่นเรื่องกับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

          นางสาวสุธาทิพย์ รัตนเพชร ผู้เสียหายกรณีโดนหลอกทำประกันรถยนต์ กล่าวว่า ซื้อรถยนต์ mitsubishi  ปีแรกมีประกันแถมมาด้วย ต่อมาปีที่ 2 ไม่มีประกันแถมแล้วจึงต่อประกันใหม่เอง หลังต่อประกัน สักพักมีคนที่อ้างว่าเป็นบริษัทประกัน ชื่อเล่น ฝน โทรศัพท์มาแจ้ง เรื่องประกันหมดสัญญากับบริษัทรถยนต์ในการเข้ารับบริการเคลมรถหรือตรวจเช็ครถ จะใช้ได้แต่ศูนย์รถยนต์ที่ไกลจากบ้านที่อยู่อาศัย ถ้าไม่สะดวกใช้ประกันจะให้เจ้าหน้าที่ยกเลิกกรมธรรม์ฉบับเก่า และประสานงานกลับมา ผ่านไปสักพักโทรมาอีกครั้งเสนอขายประกันที่ใหม่   เมื่อเลือกแล้วจะส่งเอกสารกรมธรรม์และโอนเงินยืนยัน จำนวน 21,000 บาท ทางไลน์ชื่อ “ต่ออายุประกันภัยรถยนต์” แต่ผ่านไป 7-10 วันแล้วยัง ไม่ได้เช็คและกรมธรรม์ กลายเป็นว่าไม่มีประกันเก่า และประกันใหม่ก็ไม่ได้กรมธรรม์ จึงนำชื่อคนที่โอนเงินไปค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก็พบว่ามีคนเจอปัญหาแบบนี้เป็นจำนวนมาก และพบชื่อในเว็บ Blacklistseller เมื่อรู้ว่าถูกหลอก วันที่ 7 กันยายน 2564 จึงไปแจ้งความดำเนินคดีกับคนที่โอนเงินให้ ชื่อ น.ส.อุบล แจ้งหาญ และ ยุพิณ สินสุพันธ์ หลังจากนั้นก็โพสต์เรื่องที่เจอลงในเฟซบุ๊ก ทำให้เจอคนที่เจอเหตุการณ์แบบเดียวกัน กับคนเดียวกัน เข้ามาแชร์ปัญหาประมาณ 14 คน จึงรวมกลุ่มมาร้องไทยพีบีเอสและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ช่วยเร่งรัด เพราะแจ้งความกับตำรวจแล้วคดียังไม่คืบหน้า ก่อนหน้านี้ได้คุยกับผู้เสียหายอื่นที่ได้เงินคืนมาแล้วบางส่วน ทำให้ได้เบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ติดต่อ อุบลแจ้งว่าไม่ได้ทำ แต่เคยให้ข้อมูลเพื่อนไปกู้เงินบัตรเครดิต และไกล่เกลี่ยขอกำหนดวันคืนเงินแก่ผู้เสียหาย แต่เมื่อถึงกำหนดกลับโทรไม่ติดอีกเลย

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มิจฉาชีพหลอกให้ผู้บริโภคต่อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์แต่ไม่ได้รับกรมธรรม์ มีผู้เสียหายที่มาเรียกร้องทั้งหมด 14 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อ Mitsubishi และมียี่ห้อ Suzuki และ Toyota บ้าง สิ่งที่เจอเหมือนกัน คือ มีผู้ที่อ้างว่าเป็นบริษัทประกันโทรมาแจ้ง เรื่องอู่รถยนต์ที่อยู่ในเครือบริษัทประกันไม่ครอบคลุมกับอู่ใกล้บ้าน ทำให้ต้องไปซ่อมที่ไกลๆ ซึ่งผู้บริโภคไม่สะดวก ในกรณีนี้มูลนิธิฯ ขอเตือนภัยผู้บริโภค อาจโดนมิจฉาชีพหลอกให้ทำประกันภัยรถยนต์โดยไม่ได้รับกรมธรรม์ได้ สังเกตได้จากผู้ที่โทรมาไม่แสดงตัวตน บอกแค่ชื่อเล่น ไม่บอกชื่อจริง และไม่ได้แจ้งเลขที่ใบอนุญาตขายประกัน เพราะการเสนอขายประกันภัยรถยนต์ทางโทรศัพท์นั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดให้ขายประกันได้โดยผู้ที่มีใบอนุญาตการขายประกัน ซึ่งการติดต่อขายประกันทางโทรศัพท์จะต้องได้รับการอนุญาตก่อน และก่อนการเสนอขายประกันต้องแจ้งชื่อนามสกุล เลขที่ใบอนุญาตตัวแทนประกันให้ทราบ ในด้านผู้บริโภคมีสิทธิ์ปฏิเสธ หรือเอาข้อมูลของผู้ขายประกันไปตรวจสอบก่อนทำประกัน เรื่องนี้ผู้บริโภคควรตรวจสอบและศึกษาก่อนที่จะทำประกัน

          ในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคนั้น มิจฉาชีพได้ข้อมูลไปได้อย่างไร เพราะมิจฉาชีพจะแอบอ้างศูนย์รถยนต์ยี่ห้อเดียวกันกับรถยนต์ โดยรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคอย่างละเอียด ทั้งกรมธรรม์ ยี่ห้อรถ เลขทะเบียน เลขตัวถัง ซึ่งบริษัทผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เป็นผู้ที่จดทะเบียนรถยนต์ ฉะนั้น คนที่รู้เรื่องนี้จะต้องมีข้อมูลของรถยนต์ จึงตั้งข้อสังเกตว่าถ้าไม่ได้ข้อมูลจากบริษัทรถยนต์แล้วบุคคลภายนอกจะรู้ได้อย่างไร ฉะนั้น บริษัทจำหน่ายรถยนต์จะต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล ถ้าผู้บริโภคไม่ได้อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูล ก็ไม่สิทธิ์เอาข้อมูลของผู้บริโภคไปเปิดเผย และต้องการให้บริษัทที่จำหน่ายรถยนต์มีมาตรการในการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่มาซื้อรถยนต์ เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ลูกค้า และรับผิดชอบในกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่มีประกันแถมหลุด

          ขณะนี้ผู้เสียหายยังไม่ได้เงินคืน และติดต่อกับผู้ที่อ้างว่าเป็นบริษัทประกันไม่ได้ อีกทั้ง ผู้เสียหายบางรายได้แจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 64 แล้ว แต่ ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ทั้งที่มีชื่อชัดเจน มีตัวตนของคนที่โอนเงินให้ มูลนิธิฯ จึงขอให้ตำรวจเร่งรัดการดำเนินคดีโดยเร็วที่สุดกับมิจฉาชีพกลุ่มนี้ เนื่องจากผู้เสียหายทุกคนแจ้งความตามสน.พื้นที่ของแต่ละคนไว้หมดแล้ว เพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายให้กับผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งน่าจะมีผู้เดือดร้อนมากกว่านี้ที่ยังไม่มาแจ้งความเสียหาย และเพื่อไม่ให้มีผู้เสียหายเพิ่ม จึงต้องมีความรวดเร็วในการดำเนินคดี ทางมูลนิธิฯ จะติดตามความคืบหน้าเหล่านี้ไปที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าหน่วยงานในพื้นที่ยังไม่มีความคืบหน้าภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยมูลนิธิฯ จะพาผู้เสียหายไปยื่นเรื่องกับผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ดำเนินคดีเรื่องนี้แทน

          ฝากถึงประชาชนที่จะซื้อประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์  ขอให้ตรวจสอบข้อมูลตัวแทนขายและแบบประกัน ก่อนตกลงซื้อประกัน  ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ http://oiceservice.oic.or.th/licenseagency/license.php และควรโอนเงินค่าเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันภัยโดยตรง

          หากมีผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 ช่องทาง inbox เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องทุกข์ออนไลน์ ได้ที่ https://www.consumerthai.com/

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ประกันภัย, ประกันภัยรถยนต์

พิมพ์ อีเมล