คดีฟ้องกลุ่มดีแทค คิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาที ศาลอุทธรณ์ตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และดำเนินคดีแบบสามัญต่อ ซ้ำรอยคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะผู้เสียหายใช้สิทธิฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายต่อ
จากกรณี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 ตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาที เนื่องจากการคิดค่าบริการแบบดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายเกินกว่าที่ใช้จริง และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยผู้เสียหายจากการละเมิดผิดสัญญาของดีแทคนั้น มีประมาณ 23 ล้านเลขหมาย รวมทั้งโจทก์สมาชิกกลุ่ม รวม 83 คน ซึ่งฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มทั้งสามค่าย โดยบริษัททรูยอมตกลงเยียวยาผู้บริโภค บริษัทดีแทคศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นคดีกลุ่ม ส่วนบริษัทเอไอเอส ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเป็นคดีแบบกลุ่ม ต่อมาในวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ตัดสินไม่รับให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และให้ดำเนินคดีแบบสามัญ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ตัดสินคดีฟ้องแบบกลุ่มดีแทค โดยพิพากษากลับศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม พ.ศ. 2559 ข้อ 26 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 วรรคสอง โดยมีมูลเหตุเรื่องการคิดค่าเสียหายที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีสมาชิกกลุ่มสมัครบริการคิดค่าโทรเป็นวินาทีตามรายการส่งเสริมการขาย (Package) และผู้ใช้บริการบางคนได้รับส่วนลดค่าบริการ ในการพิจารณาคดี ศาลจึงจำต้องพิจารณาตามผู้ใช้บริการแต่ละคนว่าผิดสัญญาหรือละเมิดหรือไม่ ได้รับความเสียหายเพียงใด และปัญหาว่าผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บค่าบริการถูกต้องหรือไม่ ภาระการพิสูจน์ตกอยู่แก่ผู้ให้บริการ จึงสามารถฟ้องและดำเนินคดีได้โดยง่าย ไม่จำต้องมีทนายความ การนำสืบพยานหลักฐานในคดีก็ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ดังนั้น การดำเนินคดีแบบกลุ่มสะดวกในการยื่นคำฟ้อง และนำสืบพยานหลักฐานบางส่วนเท่านั้น แต่มิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีอย่างคดีสามัญ จึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีกลุ่มดีแทคคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาที อยู่ในชั้นการพิจารณาการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ทั้งสอง แล้วให้ดำเนินคดีเป็นแบบคดีสามัญต่อ เหตุผลคล้ายกับคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส โดยมีเหตุผลเรื่องความสะดวก การดำเนินคดีแบบสามัญมีความสะดวกกว่า เพราะคดีผู้บริโภคสามารถยื่นฟ้องด้วยวาจาได้ไม่ว่าจะเรียกค่าเสียหายจำนวนเท่าใด อีกเหตุผลคือ ถ้าฟ้องแล้วมีการบังคับคดี สมาชิกกลุ่มจะมีภาระในการพิสูจน์ขอรับชำระหนี้ ยุ่งยาก เพราะจำนวนหนี้แต่ละคนไม่เท่ากัน
“ถึงศาลจะแจ้งว่าการฟ้องคดีผู้บริโภคจะสะดวกกว่า ยื่นฟ้องด้วยวาจาได้ ภาระการพิสูจน์อยู่ที่ผู้ประกอบการ แต่ด้วยมูลค่าความเสียหายที่มีจำนวนไม่สูงมาก ทำให้ผู้บริโภคไม่อยากดำเนินการคดีต่อ ละเลยสิทธิของตนเองที่ควรเกิดขึ้น และเสียสิทธิผู้บริโภค เพราะไม่ต้องการเสียเวลาเรียกร้องค่าเสียหายที่มีมูลค่าไม่มาก อีกทั้ง การฟ้องคดีสามัญสะดวกกว่าจริงหรือเปล่า จะเป็นเหมือนการเพิ่มภาระให้ศาลหรือไม่ ทั้งที่เจตนารมณ์ของการดำเนินคดีแบบกลุ่มต้องการให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีลักษณะความเสียหายทำนองเดียวกัน และการจะให้ผู้เสียหายที่มีค่าเสียหายเล็กน้อยต้องดำเนินการฟ้องคดีเองก็ยังเป็นภาระให้กับผู้บริโภค ที่ต้องใช้ทุนทรัพย์ในการเรียกร้องค่าเสียหายสูงกว่าค่าเสียหายที่เรียกร้อง” นางสาวณัฐวดีกล่าว
นางสาวณัฐวดี กล่าวอีกว่า ในคดีนี้ที่ฟ้องแบบคดีกลุ่ม เพราะมีความเสียหายรูปแบบเดียวกัน จากบริษัทเดียวกัน ซึ่งเข้าข่ายในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ การที่ให้ไปดำเนินคดีแบบสามัญเหมือนผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องไปดำเนินคดีเอง เพราะหากคดีแบบกลุ่มอนุมัติแล้ว ผู้บริโภคที่เข้าข่ายและเสียหายสามารถใช้สิทธิของตัวเองเข้ามาเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ได้เลย โดยไม่ต้องฟ้องคดีเอง แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นการดำเนินคดีแบบสามัญ จากโจทก์ที่ร่วมกันฟ้องประมาณ 90 คน จะเหลือโจทก์หลัก 2 คน สมาชิกที่เหลือต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ หรือถ้าผู้บริโภคที่เสียหายและได้รับผลกระทบเหมือนกัน เห็นว่าตนเองมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนี้ สามารถเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีได้ และถึงแม้ว่าศาลจะให้ดำเนินการเป็นคดีสามัญแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังอยากให้ผู้บริโภคใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายที่ควรจะได้รับต่อ