เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ยื่นข้อเสนอให้ศาลมีกรอบเวลาชัดเจน และไม่ควรยกความแตกต่างค่าเสียหายมาเป็นเหตุยกคำร้องดำเนินคดีกลุ่ม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมชวนทนายหาแง่มุมกฎหมายคุมจริยธรรมธุรกิจไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภค ด้านคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ระบบไต่สวนของศาลไม่สำเร็จเท่าที่ควร เพราะไม่พิจารณาเชิงรุก ต้องอบรมให้เชี่ยวชาญ
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนา ‘สถานการณ์และบทเรียนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม’ ในช่วงมุมมองและทิศทางการพัฒนาการดำเนินคดีแบบกลุ่มของประเทศไทย อดีตผู้พิพากษา เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกา และเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เสนอวิธีการแก้ไขและพัฒนาการดำเนินคดีแบบกลุ่มในปัจจุบัน
ศาสตราจารย์พิเศษ วิชัย อริยนัทกะ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสประจำศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กฎหมายการพิจารณาคดีแบบกลุ่มมีทั้งหมด 49 มาตรา แทรกอยู่ในมาตรา 222/1 ถึง 222/49 เป็นคดีวิสามัญซึ่งเป็นคดีพิเศษ เพราะสหรัฐอเมริกาต้นแบบของกฎหมายคิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนแก้ไขปัญหาที่สังคมเดือดร้อน เช่น อุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดความเสียหายจากสิ่งแวดล้อม พาณิชกรรมเข้ามาผูกขาด ทำลายการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรม โดยที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มีแค่ 10 หรือ 100 คน แต่มีจำนวนมากกว่านั้น การพิจารณาคดีแบบวิสามัญหรือแบบกลุ่มจึงทำให้เกิดประโยชน์กว่าคดีแบบสามัญ ไม่ต้องฟ้องทีละคดี ซึ่งการพิจารณาคดีแบบสามัญผู้ที่ได้ประโยชน์จากคำพิพากษามีเพียงแค่ผู้ฟ้อง ถ้าอยากได้ประโยชน์ด้วยก็ต้องฟ้องใหม่ ซึ่งคดีที่ค่าเสียหายจำนวนไม่มากจะไม่คุ้มค่า แต่ถ้าเป็นคนจำนวนเป็นล้าน สำหรับเงิน 400-500 บาท หรือ 100 บาทก็เกิดความคุ้มค่า นอกจากนี้ ข้อสังเกตของคดีที่ฟ้องมา คือ ยังมีประเภทคดีที่อาจจะฟ้องได้อีก อย่างการฉ้อฉลหรือการปั่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จะมีผู้เสียหายจำนวนมาก คนที่จะฟ้องคดีต้องเป็นนักกฎหมายที่เข้าใจเรื่องหลักทรัพย์ มีสำนักงานบัญชีเข้ามาช่วยแล้วก็ฟ้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม
อาจารย์พงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ในประเทศไทยกฎหมายการดำเนินคดีแบบกลุ่มยังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ในการหาแง่มุมทั้งข้อกฎหมายและวิธีการที่เหมาะสม และยังมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ค่าประกาศให้สมาชิกกลุ่มทราบ จะเรียกเก็บเงินจากใครอย่างไร ยังไม่มีความชัดเจน ศาลก็จะต้องออกเงื่อนไขหรือคำสั่งเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย อีกเรื่องหนึ่ง อยากให้ทนายความดูแง่มุมของกฎหมาย อย่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าซึ่งจะมีอยู่มาตราหนึ่ง ระบุว่าบุคคลใดที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำที่เป็นการผูกขาดหรือทำให้การแข่งขันไม่เป็นธรรม จะเห็นว่ากฎหมายนี้คุ้มครองผู้บริโภคโดยรวมและผู้บริโภคทุกคนอาจจะเป็นผู้เสียหาย การที่มีข้อกฎหมายลักษณะนี้ฟ้องเป็นคดีกลุ่มขึ้นมา ก็เพื่อเป็นการดูจริยธรรมและการปฏิบัติตนของภาคธุรกิจให้อยู่ในกรอบที่ไม่รังแกผู้บริโภคจนเกินไป ฉะนั้นกฎหมายใหม่ๆ ต้องการความคิดสร้างสรรค์ทั้งด้านข้อกฎหมายที่จะนำออกมาใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์ แต่ขณะนี้ยังมีจุดที่จะต้องพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป และองค์กรที่สำคัญก็คือ องค์กรเอกชนที่ดูแลทั้งสิ่งแวดล้อมแล้วก็ผู้บริโภคของประเทศไทย ที่จะเข้ามาช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ของกลุ่มที่ไม่สามารถมีอำนาจต่อรองเท่าเทียมกับภาคธุรกิจได้
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.วรรณชัย บุญบำรุง กรรมการในคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เสนอแนวทางแก้ไขในมุมมองของทนายความของกลุ่ม บทบาทของศาล และค่าใช้จ่ายของการดำเนินคดีแบบกลุ่มว่า ปัญหาทุนทรัพย์น่าจะเกิดจากการที่ไม่ให้องค์กรเอกชนเข้ามาดำเนินคดีแบบกลุ่ม ซึ่งรัฐต้องมีนโยบายคุ้มครองสังคม โดยฝากความหวังให้องค์กรเอกชน อย่างเช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค สามารถจัดตั้งงบประมาณของชุมชนเอามาใช้จ่ายได้ จะทำให้ปัญหาเรื่องทุนทรัพย์จะเบาบางลง และต้องการเสนอแนะให้มีช่องทางแก้ไขปัญหาเรื่องของทุนทรัพย์ของทนายความเช่นกัน ส่วนด้านของศาล ระบบไต่สวนของประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ศาลไม่พิจารณาเชิงรุก เพราะไม่เคยชิน ไม่เคยใช้ ถึงจะอยากใช้ก็ไม่เข้าใจถึงบทบาทเชิงรุกในการไต่สวน จึงอยากให้ศาลมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น โดยต้องอบรมให้มีความรู้ เพื่อให้การดำเนินคดีแบบกลุ่มราบรื่น
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขอนำเสนอข้อเสนอในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ดังนี้ หนึ่ง ศาลควรมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ไม่ควรให้เลื่อนคดีออกไปนานเกินควร เพราะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่ฟ้องและสมาชิกกลุ่ม สอง การวินิจฉัยคดีแบบกลุ่ม ศาลไม่ควรหยิบยกเรื่องความแตกต่างค่าเสียหายของผู้บริโภคแต่ละคนมาเป็นเหตุยกคำร้องดำเนินคดีกลุ่ม เพราะมีตัวบทกฎหมายมาตรา 222/1 กำหนดความหมายของ “กลุ่มบุคคล” คือ บุคคลหลายคนที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม สาม ในการประกาศอนุญาตคดีแบบกลุ่ม ศาลควรเปิดโอกาสให้เผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์แทน สี่ การอนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่ม ขอให้ศาลรับคดีกลุ่มเป็นการทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะผู้มีชื่อในบัญชีสมาชิกกลุ่มที่แนบคำฟ้อง ห้า เมื่อศาลรับดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลควรมีระบบให้ผู้บริโภคที่เสียหาย มีช่องทางเข้าชื่อเป็นสมาชิกกลุ่มได้ผ่านระบบออนไลน์ หก อยากให้ศาลไต่สวนโดยใช้อำนาจเรียกบุคคลและหลักฐานต่างๆ ให้มากกว่าให้ผู้บริโภคต้องแสวงหาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์เพียงลำพัง เจ็ด คดีแบบกลุ่มหากผู้ประกอบการหรือบริษัทถูกฟ้องมีโอกาสที่จะล้มละลายได้ง่าย ดังนั้น ศาลจึงควรมีกลไกคุ้มครองป้องกันการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของผู้ประกอบการตั้งแต่ชั้นไต่สวนคดีกลุ่ม แปด เงินรางวัลทนาย ควรพิจารณาตามความเป็นจริงและมีมาตรฐานในการพิจารณา เก้า การพิจารณาคดี ควรยึดเจตนารมณ์ ในการอำนวยความความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่สามารถฟ้องคดีได้
ติดตามชม เวทีเสวนา "“สถานการณ์และบทเรียน การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/fconsumerthai/videos/577186693400908