มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนปัญหา ‘ศาลพิจารณาคดีกลุ่มล่าช้า’ บางคดีนาน 3 ปี ชี้กระบวนการล่าช้า ชั้นไต่สวนควรพิจารณาตามกรอบ ไม่ขยายอุทธรณ์นาน เสนอองค์กรฟ้องคดีกลุ่มได้
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนา ‘สถานการณ์และบทเรียนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม’ ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยช่วงแรกนำเสนอในเรื่องของบทเรียนและสถานการณ์การดำเนินคดีแบบกลุ่มในปัจจุบัน
นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม ตั้งแต่ปี 2560 จำนวน 6 คดี เช่น คดีกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินความเป็นจริง ศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปีกว่า คดีผิดสัญญาให้บริการโทรคมนาคม (เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์) แยกเป็น 3 คดี โดยในคดี AIS ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแบบคดีสามัญ ใช้เวลาพิจารณาการรับเป็นคดีแบบกลุ่มของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ 3 ปีกว่า ตัวอย่างเหตุผลคำพิพากษาที่ไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เช่น คดีของ AIS ให้ความเห็นว่ายังไม่มีข้อมูลและจำนวนของสมาชิกที่ถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริง ไม่ชัดเจนเพียงพอให้รับฟังได้ว่ามีกลุ่มบุคคลจำนวนมากมีสิทธิ์อันเดียวกัน และค่าเสียหายที่คำนวณมาไม่ได้พิจารณาจากการใช้งานจริงของกลุ่มสมาชิก
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีกระทะโคเรียคิงใช้เวลาไต่สวนนาน เปลี่ยนผู้พิพากษาไป 5 ท่าน ตอนยื่นคดีเสียเวลาไกล่เกลี่ยไปมาก นัดครั้งหนึ่ง 2-3 เดือน บางที 4 เดือน รวมแล้ว 3 ปี กว่าจะได้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และบางคดีให้เหตุผลในการไม่รับเป็นคดีกลุ่มว่า ค่าเสียหายของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างในคดีได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเมื่อเป็นคดีของกลุ่มคน เป็นไปไม่ได้เอาค่าเสียหายแต่ละคนจะเท่ากัน ทำไมถึงใช้เงื่อนไขนี้ในการรับหรือไม่รับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม อย่างคดีนี้บางคนได้รับสารเข้มข้นแล้วอาการหนักต้องตัดขา บางคนอาการเบาก็แค่คว้านเนื้อเน่าไปแล้วก็ไปเอาเนื้อดีมาแปะ ในเมื่อเป็นคดีกลุ่มก็สามารถพิสูจน์ค่าเสียหายของแต่ละคนที่ได้รับ เพราะมีหลักฐานการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว
ว่าที่ ร.ต.สมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นได้เห็นอำนาจเชิงรุกของศาลในการให้แก้ไขหลักการในคำฟ้องได้ อย่างในคดีเครือข่ายโทรศัพท์ ปัดเศษวินาทีเป็นนาที แยกเป็น 3 ค่ายมือถือ 3 คดี ยื่นคำฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาในคดีนี้ค่อนข้างที่จะเข้าใจในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม หลังจากยื่นฟ้องไปแล้ว ศาลตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้วในส่วนคำขอบังคับของกลุ่มยังไม่ได้ระบุหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณชำระเงินให้แก่สมาชิกกลุ่มเท่าที่จะทำได้ จึงให้โจทก์ทั้งสองไปดำเนินการแก้ไขข้อบังคับของกลุ่มโดยให้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณดังกล่าวยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน ซึ่งเมื่อศาลเห็นว่าคำฟ้องยังไม่ได้หลักเกณฑ์ในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนให้กับสมาชิกกลุ่มอย่างครบถ้วน ก็สามารถสั่งดำเนินการแก้ไขในคำฟ้องได้โดยระบุให้ชัดเจนตามที่ศาลเห็น
นายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการทำคดีแบบกลุ่มมาทั้งหมด 8 คดี สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เมื่อมีการยื่นฟ้องพร้อมคำร้องไต่สวนขอเป็นคดีกลุ่ม ส่วนใหญ่นัดหมายเกิน 45 วัน ไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดประธานศาลฎีกา ซึ่งคดีผู้บริโภคและคดีกลุ่มมีนโยบายการดำเนินคดีและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้รวดเร็ว ไม่ช้า เนื่องจากมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ไม่ควรต้องรอนาน เมื่ออยู่กับความเสียหายนานๆ จะทำให้ผู้เสียหายท้อและถอยไป
อีกทั้ง ปัญหาที่เห็นเหมือนกันของคดีกลุ่มคือ บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นทนาย ท่านผู้พิพากษา เวลาพิจารณาคำร้องจะไม่จำกัดกรอบให้อยู่ในหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ล่าช้า ชั้นไต่สวนควรพิจารณาแค่ 5 ข้อ ตามมาตรา 222/12 และ 222/10 เท่านั้น จะทำให้ไม่ยุ่งยาก ยืดเยื้อ และยาวนาน การสืบพยานในเนื้อหาของข้อโต้แย้งทำให้เสียเวลา อีกทั้ง เมื่อศาลมีคำสั่งแล้ว กำหนดให้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 7 วัน เป็นหลักการอุทธรณ์ที่ไม่เหมือนคดีทั่วไป เพราะต้องการให้รวดเร็ว แต่บางทีขอขยายอุทธรณ์ถึงครึ่งปี นอกจากนี้ อยากให้ผู้ที่ริเริ่มดำเนินคดีกลุ่มเป็นองค์กรได้ ถ้าเป็นไปได้องค์กรเพื่อผู้บริโภคต่างๆ เป็นเจ้าภาพหรือประธานจะช่วยผู้เสียหายและทนายได้มากโดยเป็นตัวกลางในการติดต่อได้
ติดตามชม เวทีเสวนา "“สถานการณ์และบทเรียน การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” ย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/fconsumerthai/videos/577186693400908