เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.60 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคท่านหนึ่งว่า ถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินผ่านทางเฟสบุ๊ค เมื่อสอบข้อเท็จจริง ทราบว่า วันที่ 6 มิ.ย. 60 ในระหว่างที่ผู้ร้องก็ใช้งานเฟสบุ๊คแชทคุยกับเพื่อนตามปกติ ช่วงเวลาประมาณสี่ทุ่ม มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งแชทมาคุยในกล่องสนทนาส่วนตัว เพื่อขอยืมเงินอ้างว่าต้องโอนให้หลานชายที่จำเป็นต้องใช้เงินด่วน โดยได้ขอให้ผู้ร้องโอนเงินผ่านเข้าบัญชีหลานชายเป็นเงิน 4,000 บาท ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเพื่อนสนิท และรู้จักกันดี จึงหลงเชื่อและได้โอนเงินให้
หลังจากการโอนเงิน เพื่อนคนดังกล่าวก็ขาดการติดต่อทางเฟสบุ๊ค จนกระทั่งวันรุ่งขึ้น ผู้ร้องได้โทรสอบถามเพื่อนสนิทดังกล่าว แต่เพื่อนแจ้งว่าไม่ได้ขอยืมเงิน ไม่ได้เล่นเฟสบุ๊ค เมื่อสอบถามเพื่อนคนอื่นๆ ทราบว่ามีเพื่อนอีก 3 รายที่ถูกให้โอนเงินรายละ 4,000 บาทเช่นกัน รวมเป็นเงินที่ทุกคนโดนหลอกทั้งสิ้นจำนวน 16,000 บาท
นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ผู้บริโภคต้องเท่าทันและรู้วิธีป้องกันตนเอง เช่น เปลี่ยนรหัสผ่านเฟสบุ๊คอยู่เสมอ อย่าใช้รหัสที่ง่ายจนเกินไป อย่าบันทึกรหัสผ่าน Facebook เอาไว้ในบราวเซอร์ ในคอมพิวเตอร์ ที่ทำงาน หรือที่บ้าน เป็นอันขาด ควรใช้วิธีจำดีที่สุด ส่วนหากหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็ต้องรีบติดต่อไปยังธนาคารเพื่อให้ตรวจสอบบัญชีธนาคารที่โอนเงินเข้าไป และดำเนินการแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน พร้อมนำหลักฐานที่ได้แชทคุยกับทางบุคคลที่แชท ร่วมถึงหลักฐานการโอนเงินเพื่อเป็นหลักฐานในการสืบหากลุ่มมิจฉาชีพผ่านทางบัญชีธนาคารที่โอน
“ปัญหาเรื่องถูกหลอกให้โอนเงินเกิดขึ้นบ่อยมาก บางรายถูกหลอกให้โอนจนหมดบัญชี ซึ่งอยากให้ผู้บริโภคช่างใจสักนิด เวลามีใครมาขอหยิบยืมเงินแม้คนสนิทใกล้ตัวก็อย่าหลงโอนเงินให้ง่ายๆ ต้องมีสติ ตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงินเสมอ อย่างน้อยก่อนโอนเงินผู้บริโภคควรโทรสอบถามเจ้าของเฟสบุ๊คอีกครั้ง ว่าบัญชีถูกต้องหรือไม่ และสังเกตให้ดี หากบัญชีที่ให้โอนเงินไปเป็นชื่อบัญชีบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่เพื่อนของเรา เราควรสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ” นักวิชาการด้านกฎหมายกล่าว