ผู้บริโภคทวงสิทธิ์หลังจากพบว่า ผู้ประกอบการสร้างคอนโดไม่มีระเบียงเหมือนโฆษณา หลังขอตรวจแบบก่อสร้างพบสร้างผิดแบบจริง แจ้งให้แก้ไขกลับเพิกเฉย จึงยกเลิกสัญญาขอเงินคืนกว่า 900,000 บาท ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนะก่อนตรวจรับต้องเข้าดูของจริง หากรับโอนแล้วอาจแก้ไขยาก
9 มิ.ย.60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์ฯ เปิดเผยว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าได้ทำสัญญาซื้อขายห้องชุด RHYTHM อโศก 2 จากบริษัท เอพี เอ็มดี (อโศก) จำกัด เมื่อต้นปี 2558 จำนวน 2 ห้อง ราคา 404,916 บาท และ 526,948 บาท ครั้นเมื่อจ่ายเงินดาวน์ ครบตามสัญญาเมื่อปลายปี 2559 ได้รับแจ้งให้ไปตรวจรับห้องชุดทั้ง 2 ห้อง พบว่าสร้างไม่ตรงตามสัญญา ซึ่งในสัญญาระบุว่ามีพื้นที่ระเบียงยื่นออกไปเพื่อชมวิวด้านนอกอาคารชุดได้ แต่ในความเป็นจริงเป็นเพียงช่องหน้าต่างและมีพื้นที่ยื่นออกไปเพื่อวางคอมเพรสเซอร์เครื่องปรับอากาศเท่านั้น ไม่สามารถออกไปชมวิวรวมถึงใช้ประโยชน์อื่นได้ เมื่อแจ้งให้ทางโครงการปรับปรุงแก้ไขให้ตรงกับแบบ แต่ไม่มีการปรับแก้ไขใดๆๆ จึงเข้าร้องเรียนกับศูนย์ฯ และได้เงินคืนทั้งหมด
“การสร้างไม่ตรงแบบที่โฆษณานั้น เป็นการผิดสัญญาที่ให้ไว้กับผู้ซื้อ จึงสามารถใช้สิทธิ์ปฏิเสธการตรวจรับและขอให้
ผู้ประกอบการปรับปรุงแก้ไขให้ตรงกับแบบที่ได้ตกลงกันไว้ ห้ามเซ็นรับมอบการตรวจรับห้องอย่างเด็ดขาดเพราะเมื่อเซ็นรับไปแล้ว การแก้ไขปัญหาจะยาก ซึ่งผู้บริโภคต้องรู้ทัน โดยหากพบปัญหาการก่อสร้างไม่ตรงแบบผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง โดยขอตรวจสอบแบบก่อสร้างที่สำนักงานการโยธาในพื้นที่ที่ทางบริษัทขออนุญาตก่อสร้าง และ หากเห็นว่ามีการสร้างผิดแบบ ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิ์ขอยกเลิกสัญญาขอเงินคืนทั้งหมดได้ทันที” หัวหน้าศูนย์ฯกล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าในระหว่างการก่อสร้างผู้บริโภคควรเข้าไปตรวจดูการก่อสร้างเป็นระยะ หากมีข้อแก้ไข ข้อบกพร่องจะได้ติดต่อให้บริษัทจัดการได้ทันที และย้ำว่าก่อนรับโอนกรรมสิทธิ์ ผู้บริโภคต้องเข้าตรวจรับบ้านหรือคอนโดด้วยตัวเอง หากสร้างผิดแบบหรือต้องการให้แก้ไขควรแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้ประกอบการแก้ไข และในการตรวจรับบ้านนั้นต้องเป็นบ้านหรือคอนโดที่เสร็จแล้วเรียบร้อยพร้อมอยู่อาศัยได้ ผู้บริโภคจึงค่อยรับโอนกรรมสิทธิ์ เพราะเมื่อเซ็นรับโอนกรรมสิทธิ์ แล้วอายุการรับประกันด้านโครงสร้างและส่วนควบจะเริ่มต้นนับทันที หากเซ็นรับมอบก่อน บริษัทอาจจะมีการเพิกเฉย ในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคได้
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต