วันนี้ (15 มี.ค.) ในการอภิปราย "สิทธิผู้บริโภค: ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค" ในการประชุม "สมัชชาผู้บริโภค" จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค.2558 ที่โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค ซึ่งตรงกับวันสิทธิผู้บริโภคสากล “World Consumer Rights Day” ในปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 220 องค์กร ใน 115 ประเทศทั่วโลก โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นหนึ่งในองค์กรสมาชิก ได้ให้ความสำคัญเรื่อง “สิทธิผู้บริโภคในการได้รับอาหารที่ดีต่อสุขภาพ” (Consumers Rights to healthy food) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงผลงานของ กมธ.ที่ผ่าน สปช.แล้ว 2 เรื่องได้แก่ การคิดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามเวลาใช้งานจริง และร่าง พ.ร.บ.องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งรัฐบาลขอเวลา 20 วันในการขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ หาก ครม.เห็นชอบก็จะส่ง สนช.ต่อไป
กรณีมีการคัดค้านจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองบริโภค (สคบ.) นางสาวสารีชี้แจงว่า ยืนยันว่าการทำงานของทั้งสองหน่วยงานจะต่างกัน โดย สคบ.นั้นมีหน้าที่ในการปรับและลงโทษผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค แต่องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคฯ จะทำหน้าที่เชิงนโยบาย ให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการทั่วไป
นางสาวสารี ชี้ว่า กรณีที่รัฐบาลประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากแล้ว แต่ดอกเบี้ยเงินกู้กลับไม่ลดลง เพราะไม่มีตัวแทนผู้บริโภคในธนาคารเลย ทำให้การกำกับดูแลปัจจุบันไม่มีใครนึกถึงผู้บริโภคเลย การมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ผู้บริโภคมากขึ้น หรือกรณีการขึ้นค่าโดยสารรถสาธารณะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะทำหน้าที่เถียงกับเจ้ากระทรวง ซึ่ง สคบ.คงไม่สะดวก
"อยากขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยกันติดตาม ครม. และสื่อสารกับ สคบ ถ้าประชาชนไม่ส่งเสียงหรือให้ความสำคัญ สิ่งที่ทำจะสำเร็จยาก เพราะฉะนั้น ก็ต้องการความตื่นตัวจากประชาชนทุกคน" นางสาวสารีกล่าว
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านการเงินการธนาคาร กล่าวเสริมว่า งานของ สคบ.เป็นงานเชิงรับ เช่น รับเรื่องร้องเรียน แต่งานขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นงานเชิงรุก เนื่องจากที่ผ่านมา การกำหนดนโยบายของกฎหมายต่างๆ มักมีแต่ตัวแทนของภาคธุรกิจ ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค ดังนั้น หากมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะมีตัวแทนผู้บริโภคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ดร.เดือนเด่น กล่าวถึงการคุ้มครองผู้บริโภคในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลด้วยว่า ต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น โดยชี้ว่า ปัจจุบันที่ผู้บริโภคสามารถซื้อของออนไลน์ได้ทุกที่ไม่มีพรมแดน ผู้ประกอบการในต่างประเทศนั้นหันมาคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นแล้ว เช่น จับมือกันทำ Warrantary Trust Mark หรือสัญลักษณ์แห่งความมั่นใจได้เชิงสมัครใจ เพื่อเพิ่มความมั่นใจของผู้บริโภค ดังนั้น ฝากถึงผู้ประกอบการไทยว่าควรใส่ใจคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น เพราะถือเป็นการส่งเสริมการค้า ไม่ใช่การเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด
ด้าน รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวเน้นย้ำว่า สิทธิผู้บริโภคในกลไกต่างๆ ยังน้อยอยู่ จึงต้องเพิ่มกลไกต่างๆ เข้ามา เช่น เรื่องท้องถิ่นกับการคุ้มครองผู้บริโภค สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ รศ.ดร.วิทยา กล่าวถึงสิ่งที่ท้าทายขณะนี้ว่า กมธ.พยายามเสนอเพิ่มสัดส่วนผู้แทนภาคประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเข้าไปในคณะกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค 50% ก็ไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบรับหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ท้าทายไม่ต่างจากการเสนอเพิ่มสัดส่วนผู้หญิง
ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ด้านบริการสาธารณะ กล่าวถึงกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนของกลุ่มผู้บริโภคโดยย้ำว่า สิทธิผู้บริโภคนั้นไม่ใช่การมอบให้กัน แต่ต้องลงมือทำเอง ทั้งนี้ เสนอแนวทางแบบสหพันธ์ผู้บริโภคสากลที่เสนอว่า ควรจะต้องคิดใหญ่และทำร่วมกันทั้งโลก งานคุ้มครองผู้บริโภคจะสำเร็จได้ เครือข่ายภาคประชาชนต้องทำงานร่วมกันแบบกระจายศูนย์ และเชื่อมต่อกันขึ้นไป โดยรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เต็มที่อย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม