มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือต่อเครดิตบูโรคัดค้านการจัดเก็บประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภค เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายข้อมูลเครดิต ให้กำหนดขั้นวงเงินหนี้ค้างชำระ เพื่อการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนที่เป็นธรรม
Consumerthai – 31 ม.ค. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำโดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือคัดค้านการจัดเก็บประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภค ต่อนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
นายอิฐบูรณ์ กล่าวถึงการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ว่าจากการที่บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด(เครดิตบูโร) ได้เปิดเผยว่า ได้มีการระดมความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมให้เครดิตบูโรจัดเก็บประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาออกเป็นกฎหมายต่อไป และคงจะสามารถบังคับได้ภายใน 1-2 ปีนี้นั้น
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ภายใต้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ขอเสนอความคิดเห็นคัดค้านแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนั่นคือ 1) ระบบบริการสาธารณูปโภคทั้ง น้ำประปา ไฟฟ้า และโทรศัพท์ ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน การให้สินเชื่อ การประกันภัย การประกันชีวิต หรือการให้บริการบัตรเครดิตแต่อย่างใด ไม่ควรที่จะแก้ไขกฎหมายเครดิตบูโร ให้บริการสาธารณูปโภคที่เป็นบริการขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตกลายเป็น “สถาบันการเงิน” เพียงเพื่อที่จะสามารถเป็นสมาชิกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบริษัทข้อมูลเครดิตได้
2) การจัดเก็บประวัติการชำระค่าระบบสาธาณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าโทรศัพท์ เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ประสบปัญหาทุกข์ยากทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อไม่สามารถชำระได้ตามกำหนดก็จะถูกระงับการให้บริการจากผู้ให้บริการทันที โดยเฉพาะการตัดน้ำ-ตัดไฟของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านประปาและไฟฟ้า ที่ดำเนินรวดเร็วมากเพียงแค่ 7-10 วันเท่านั้น และไม่ควรที่จะบันทึกเป็นประวัติเสียในเครดิตบูโรอีก ที่มีการเก็บข้อมูลนานถึง 3 ปี ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะได้ชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม ส่งผลให้ประชาชนอาจประสบปัญหาการถูกปฏิเสธอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ง่ายมากขึ้น
3) การติดค้างชำระค่าประปา ไฟฟ้า หรือโทรศัพท์ อาจเกิดจากเหตุไม่ตั้งใจของประชาชนได้เช่น ที่เป็นปัญหามากในปัจจุบัน คือ การจัดเก็บค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มีใบแจ้งชำระหนี้ลัการแจ้งเตือนให้ชำระหนี้อยู่ในเอกสารใบเดียวกัน ทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดได้รับความเดือดร้อนจากการชำระค่าไฟฟ้าล่าช้าโดยไม่ตั้งใจ และยังถูกเรียกเก็บค่าต่อไฟฟ้าอีกด้วย ขณะที่การบริการของการไฟฟ้านครหลวงหรือบริการโทรศัพท์ จะมีใบแจ้งเตือนให้ชำระหนี้แยกออกมาต่างหาก ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาและความระมัดระวังในการชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนด และไม่ถูกระงับใช้บริการ
“อีกกรณีหนึ่งคือ การที่ผู้ขอใช้ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นคนละคนกับผู้ที่ใช้บริการจริงๆ เช่น กรณีบ้านเช่า ห้องเช่า คอนโดมิเนียมให้เช่า หรือมีมิจฉาชีพปลอมแปลงเอกสารประจำตัวของประชาชนไปจดแจ้งขอใช้บริการโทรศัพท์ ถ้าหากผู้เช่าหรือผู้ใช้บริการ ชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภคล่าช้า หรือไม่ชำระเลย ผู้ที่จะถูกบันทึกเครดิตเสียจะเป็นผู้ที่ปรากฏชื่อผู้ที่ขอใช้บริการแทน จะก่อให้เกิดการร้องเรียนและเกิดความสับสนวุ่นวายเป็นอย่างมาก” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
นอกจากนี้ยังเสนอแนวทาง การจัดเก็บข้อมูลเครดิตการชำระหนี้ของประชาชนว่าการจัดเก็บข้อมูลควรมีขอบเขตเฉพาะในด้านการกู้ยืม การใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินก็เพียงพอต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินแล้ว
“ควรให้มีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนโดยไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลไว้ 3 ปี โดยไม่มีการกำหนดขั้นวงเงินหนี้ค้างชำระ ทำให้ประชาชนประสบปัญหาการขอสินเชื่ออยู่บ่อยครั้ง เช่น ผู้มีหนี้ค้างชำระเพียงแค่ห้าสิบสตางค์ไม่สามารถขอสินเชื่อได้เช่นเดียวกับผู้ที่มีหนี้ค้างชำระจำนวนหลายล้านบาท รวมถึงต้องคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้เต็มที่โดยเฉพาะการตรวจสอบกรณีที่สถาบันการเงินใช้ข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตในการการปฏิเสธคำขอสินเชื่อหรือบริการจากสถาบันการเงิน” นายอิฐบูรณ์กล่าว
นายสุรพลกล่าวว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณาและถือเป็นโอกาสอันดีที่จะทำงานร่วมกันเพื่อพิทักษ์ประโยชน์ให้กับผู้บริโภค พร้อมกล่าวว่าความเป็นไปได้ในการจัดเก็บข้อมูลสาธารณูปโภคในประเทศไทยจะ ดำเนินการให้เกิดขึ้นได้จริงนั้น ยังต้องมีกระบวนการและข้อพิจารณาอยู่มากพอควร เริ่มจากการศึกษาวิจัยว่า ค่าสาธารณูปโภคในปัจจุบันมีการชำระกันอย่างไร พฤติกรรมการค้างชำระเป็นอย่างไร กระบวนการและระบบการจัดเก็บ การกำหนดคำนิยามต่างๆ หรือข้อจำกัดของกฎหมายต้องแก้ไขตรงไหน อย่างไรก่อน เพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลอย่างเที่ยงตรง เป็นธรรม และคำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะกฎหมายที่กำกับดูแลเครดิตบูโรนอกจากจะให้เครดิตบูโรเป็นเครื่องมือในการป้องกัน NPL แล้วยังต้องคำนึงถึงมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะเจ้าของข้อมูลอีกด้วย จึงจะมีความสมดุลกัน โดยในขณะนี้ เครดิตบูโรมีโครงการศึกษาและระดมความเห็นในเบื้องต้น
“การเก็บประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคนั้น หากจะมองให้เป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปในแง่ของประชาชนรายย่อยที่ไม่เคยมี สเตทเม้นท์ (Statement) หรือ ยังไม่เคยมีประวัติการชำระสินเชื่อกับสถาบันการเงินใดๆ เมื่อไปขอสินเชื่อสถาบันการเงินก็จะไม่มีข้อมูลอะไรให้เห็นเลยอาจทำให้ไม่ ได้รับการอนุมัติ ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคตัวนี้จะเป็นตัวพิสูจน์ตนเองและสะท้อน วินัยทางการเงินให้สถาบันการเงินได้เห็น และใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสินเชื่อรายย่อยที่เข้าไม่ถึงสถาบันการ เงินให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนรายย่อยได้เข้าถึงระบบสถาบันการเงินด้วยการใช้ ข้อมูลประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภคที่จะสามารถสะท้อนวินัยในการชำระเงิน เพราะตอนนี้เราก็ทราบว่ามีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถขอสินเชื่อกับ สถาบันการเงินในระบบได้เพราะไม่มีเอกสารแสดงรายได้ ไม่มีสเตทเม้นท์ (Statement) แต่ถ้าเขาเหล่านั้นเป็นคนมีวินัย ค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จ่ายครบ จ่ายตรง ข้อมูลตรงนี้จะแสดงวินัย เขาก็จะได้เข้าถึงสินเชื่อในระบบและเป็นลูกค้าที่ดีต่อไป มันมองได้ในมุมที่เป็นประโยชน์กับคนหมู่มากกลุ่มหนึ่งเหมือนกัน” ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติกล่าว