นศ.เอแบคร้อง สกอ.ตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เหตุเปลี่ยนแปลงหลักสูตรโดยไม่แจ้งนักศึกษา ทำให้เสียเวลาเรียนและเสียโอกาสการทำงาน หลังรับหนังสือ สกอ.รับปากดำเนินการตรวจสอบ
Consumerthai – 1 ก.พ. 54 ตัวแทนนักศึกษาที่ได้ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรคณะดนตรี พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเข้ายื่นหนังสือต่อ รศ.นพ. กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) วอนให้ตรวจสอบหลักสูตรคณะดนตรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยละเอียดว่าเป็นหลักสูตรที่ทางสภามหาวิทยาลัย รับรองคุณภาพ จริงหรือไม่
สืบเนื่องจาก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรคณะดนตรี จากเดิม 4 สาขาวิชา ประกอบด้วย 1. Music Performance 2. Professional Music 3. Contemporary Music Performance 4. Contemporary Music Writing and Production เป็น 2 สาขาวิชาคือ 1. Music Business 2. Music Performance ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ตามหนังสือที่ ศธ 0506(3) /18577 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2550 โดยไม่มีการแจ้งให้นักศึกษาทราบล่วงหน้า ซึ่งในขณะนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรระหว่างที่ยังมีนักศึกษาหลักสูตรเดิมเรียนอยู่ด้วย และไม่สามารถโอนย้ายหรือเทียบโอนในบางรายวิชาได้ จึงส่งผลให้นักศึกษาเก่าจะต้องย้ายสาขาตามนโยบายมหาวิทยาลัย
นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงระหว่างปรับเปลี่ยนหลักสูตรยังจะต้องเรียนเพิ่มในบางรายวิชา ตัวอย่างเช่น จากหลักสูตรเดิมนักศึกษาเรียนไป 142 หน่วยกิต แต่หลักสูตรใหม่ จะต้องเรียนเพิ่มเป็น 158 หน่วยกิต (เพราะมีบางรายวิชาที่เทียบโอนไม่ได้) ทำให้ผู้ปกครองจะต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีก 16 หน่วยกิต หน่วยกิตละ 1,600 บาทโดยประมาณ (อัตราไม่เท่ากันทุกรายวิชา) เป็นค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นโดยประมาณ 25,600 บาท และตัวนักศึกษาจะต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มขึ้น
ทำให้เสียโอกาสในการทำงาน อีกทั้งยังทำให้เสียความตั้งใจในการเลือกเรียนสาขาวิชาที่เข้ามาเรียนแต่แรก เป้าหมายในการทำงานหลังจากจบการศึกษาก็ถูกปรับเปลี่ยนตาม และเมื่อนักศึกษานำประเด็นเหล่านี้เข้าร้องเรียนต่อผู้บริหารก็ไม่ได้รับการจัดการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด
หลังจากที่กลุ่มนักศึกษาได้พยายามเข้าพบเพื่อชี้แจงและร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร และปัญหาที่เกิดจากการสอนของอาจารย์คณะดนตรี กับผู้บริหารมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 ภาคการเรียนที่ 2 จนถึงล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 รวม 11 ครั้ง ในระยะเวลา 3 ปี แต่ปราศจากการแก้ปัญหาใดๆ จนเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554 กลุ่มนักศึกษาที่ได้รับความเดือดร้อน ได้เข้ามาร้องเรียนด้วยตนเองที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จากนั้น เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2554 คณะอาจารย์ ของคณะดนตรี ได้เรียกประชุมนักศึกษาเพื่อชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว
ขณะนั้นนักศึกษาได้ขอให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทนายความ และสื่อมวลชนร่วมเข้ารับฟังการชี้แจงด้วย แต่ก็ถูกปฏิเสธแม้แต่การถ่ายภาพ จากนั้น รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และคณะ ได้เดินทางออกมาพบเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และสื่อมวลชน เพื่ออธิบายปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น และพาชมสถานที่ภายใน มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่การตอบปัญหาการร้องเรียนของนักศึกษาแต่อย่างใด ซ้ำยังกล่าวหาว่ากลุ่มนักศึกษาดังกล่าวเป็นคลื่นใต้น้ำอีกด้วย จากนั้นนักศึกษากลุ่มดังกล่าว ได้ถูกผู้บริหารเรียกเข้าพบเรื่อยมา เพื่อขอปรับความเข้าใจ แต่ก็ไม่มีคำตอบใดๆ ในประเด็นที่เรียกร้องให้แก้ไขปัญหา
เพื่อเป็นการหาทางออกนักศึกษาจึงเข้าร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เพื่อหาทางต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมี 2 ประเด็นหลักนั่นคือ
ประเด็นที่ 1 นักศึกษารุ่นปี 2548 – 2550 ถูกปิดหลักสูตรเมื่อภาคการเรียนที่ 2 พ.ศ. 2550 โดยที่บังคับให้นักศึกษาเรียนหลักสูตรใหม่ระหว่างภาคการเรียนที่ 1 พ.ศ. 2551 โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่มีการหารายวิชาเทียบเท่าให้ ผลกระทบที่ตามมาคือ
- นักศึกษาไม่สามารถเรียนในสิ่งที่ตนเองเลือกลงทะเบียนตั้งแต่แรกเริ่ม
- วิชาที่โดนตัดออกจากหลักสูตรเก่านั้นถูกโอนไปเป็นวิชาเลือกเสรี ทำให้หน่วยกิตมีจำนวนเกินจากที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้ ทำให้นักศึกษาเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น
ประเด็นที่ 2 นักศึกษามีข้อสังเกตว่า หลักสูตรใหม่ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ได้คุณภาพ โดยจะขอชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
- Song Writing
- วิชา Major Requiredในหลักสูตรปี พ.ศ.2551 มีวิชาซึ่งเกี่ยวกับการเขียนเพลงเพียง 2 วิชาเท่านั้น เมื่อเทียบกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นนั้นมีวิชาการเขียนเพลงถึง 6-8 วิชาด้วยกัน
- นำวิชาอื่น ๆ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับในสาขาวิชามาใส่ใน Minor Required เป็นการทำให้นักศึกษาเสียโอกาสในการรับความรู้ซึ่งควรจะได้รับตามวัตถุประสงค์ของ Song Writing
- วิชา Major Required ที่ไม่มีการเปิดสอนในหลักสูตรใหม่ ทั้ง ๆ ที่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งหลักสูตรจะต้องมีวิชาซึ่งเทียบเท่ากับรายวิชาใน Major Required ประกอบไปด้วย
- Introduction to Film Scoring
- Writing and Production Techniques in Pop/Rock Idioms
- Lyrics Writing (มีในหลักสูตรใหม่แต่ไม่เคยเปิดการสอน)
- Contemporary Arranging for String
2. Jazz Instrument
- ในหลักสูตร พ.ศ. 2549 – 2550 มีวิชา Lab ซึ่งเป็นวิชามาตรฐานสากลสำหรับการฝึกฝนทักษะของนักศึกษาในการเล่นเครื่องดนตรีเอกเพื่อไปเรียนวิชารวมวง (Ensemble) อย่างมีประสิทธิภาพ วิชาดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมแก่นักศึกษา Music Performance (Jazz) ไปสู่การลงวิชาการแสดงคอนเสิร์ตก่อนจบกาศึกษา (Recital)
ทว่าในหลักสูตรใหม่นั้นได้ตัดวิชาดังกล่าวออกไปทำให้นักศึกษาเสียโอกาสในการฝึกฝนทักษะ นอกเหนือจากนั้นยังปรับเปลี่ยนให้วิชารวมวงไปเป็นรายวิชาใน Major Elective ทำให้นักศึกษาสามารถเลี่ยงที่จะเลือกวิชาประสานวงได้ เป็นผลทำให้นักศึกษาด้อยศักยภาพในการรวมวงและ Recital แน่นอนว่านักศึกษาที่จบไปไม่สามารถนำทักษะที่มีอยู่ไปแข่งขันกับโลกภายนอกได้
- นักศึกษาผู้ที่เลือก Classical Instrument เป็น Minorไม่สามารถเรียนวิชา Form and Analysis ในวิชา Minor Elective ได้ เพราะการทีจะเรียนวิชา Form and Analysis ได้นั้นจะต้องผ่านการเรียน Theory II ของคลาสสิกเสียก่อน ดังนั้นเมื่อนักศึกษาเข้าไปเรียนแล้วจะไม่สามารถรับความรู้ได้อย่างเต็มที่ตามที่ควรจะเป็น
- วิชา Major Elective นั้นเป็นการนำวิชาของ Performance และ Production มารวมกันอย่างละครึ่งต่อครึ่ง ทำให้ผิดวัตถุประสงค์ของทั้ง 2 Major
3. Major in Composition and Major Classical instrument
- นักศึกษาไม่สามารถเรียนวิชา Jazz Composition ซึ่งอยู่ใน Major Required ได้ เพราะวิชานี้ต้องพื้นฐานความรู้ทางทฤษฏีดนตรีแจ๊สมาก่อน หากจะเรียนได้นักศึกษาต้องไปเรียนทฤษฏีดนตรีแจ๊ส อีก 2 ปี จึงจะเรียนในรายวิชานี้ได้ ปัญหาดังกล่าวมิได้เกิดกับวิชา Jazz Composition เท่านั้นแต่ยังเกิดขึ้นใน Minor Required และ Minor Elective อื่น ๆอีกด้วย
- เนื่องจากรหัสในวิชา Core Courses บางรายวิชาใช้รหัสร่วมกันเช่น Ear Training และ Theory ทำให้นักศึกษาเกิดความสับสน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาวิชาในสาขาแจ๊สและคลาสสิกมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง นักศึกษาบางคนคิดว่าตนเองสามารถไปเรียนวิชาแจ๊สได้ทั้ง ๆ ที่ตนเองเรียนทฤษฎีดนตรีของคลาสสิกมา แต่ในความเป็นจริงและในทางปฏิบัติเมื่อไปเทียบกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ จะต้องมีการแยกรหัสวิชาคลาสสิกและแจ๊สให้นักศึกษา
นาย บี(นามสมมุติ) นักศึกษาปี 4 กล่าวถึงการแก้ปัญหาว่าทางออกว่าควรจะคืนเงินค่าหน่วยกิตให้กับนักศึกษา และควรดำเนินการแก้ปัญหาให้นักศึกษาไม่ใช่นิ่งเงียบ เพราะเป็นการคาบเกี่ยวกับอนาคตของนักศึกษา
ด้าน รศ.นพ กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) หลังรับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาแล้วพร้อมรับปากดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของ มหาลัยอัสสัมชัญต่อไป