อีสานเดินหน้าแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกม.ทางวิทยุ-โทรทัศน์

DSCF2545

เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน จับมือรองผู้ว่าฯ ขอนแก่น ร่วมลงบันทึกความร่วมมือ (MOU) จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุและโทรทัศน์

เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมคนขอนแก่นปลอดภัยจากโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์” เพื่อรณรงค์วันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ซึ่งตรงกลับวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ภายในงานได้รับความร่วมมือและความสนใจจากหลายภาคส่วน กว่า 200 คน พร้อมร่วมกันทำ MOU จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุและโทรทัศน์ ระหว่าง สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น, ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดขอนแก่น, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ,สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติภาค 2 , สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น, เครือข่ายผู้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งในจังหวัดขอนแก่น  ในวันที่ 30 เม.ย. 2558 ที่ศาลาประชาคม จ.ขอนแก่น

DSCF2561

นายศิวโรจน์ มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวภายในงานว่า ถือเป็นโอกาสดีที่จังหวัดขอนแก่นได้เล็งเห็นปัญหาจากการโฆษณาที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค หน่วยงานหลายภาคส่วนจึงได้ร่วมมือกันจัดงานมหกรรมครั้งนี้ขึ้นและถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เนื่องจากเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย 

“การเดินหน้าเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ต้องร่วมมือกันในทุกฝ่าย และอยากให้สถานีวิทยุดำเนินการในกรอบของกฎหมายส่วนผู้บริโภคเองก็รู้เท่าทันโฆษณาระมัดระวังและช่วยกันตรวจสอบด้วย” รองผู้ว่าฯ ขอนแก่น กล่าว

PatiwatChalermchat

ด้าน นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น เผยการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่า สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นได้มีการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางคลื่นวิทยุและเคเบิ้ลที่ออกอากาศในช่วง มิ.ย. 2557 ถึง มี.ค. 2558 พบว่ายังมีการโฆษณาที่เป็นปัญหาทั้งอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รักษาสารพัดโรค ลดไขมัน-ผอม-ขาว-สวย เพิ่มสมรรถภาพและความน่าหลงใหลทางเพศทั้งชาย-หญิง ส่งเสริมการขายยาทั้งชิงโชค-แถมพก-ลดราคา ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อซื้อมารับประทาน และก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ อาทิ ไม่หายจากการเจ็บป่วยแล้วยังทำให้เป็นโรคมากขึ้น เสียทรัพย์สินเงินทองเพราะสินค้ามีราคาแพง

“สื่อวิทยุ เคเบิ้ลทีวี ดาวเทียม เป็นสื่อที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่ายในทุกๆพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเป็นวงกว้าง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม โดยการสร้างความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐ  ภาคประชาชน และผู้ประกอบการทางสื่อวิทยุ ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความตระหนักความรับผิดชอบของสื่อในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในจังหวัดขอนแก่น” นายปฏิวัติ กล่าว

ทางด้าน นางสาวจินตนา ศรีนุเดช ผู้ประสานงานโครงการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภาคอีสาน เผยการทำงานในพื้นที่ภาคอีสาน 2 จังหวัด คือ สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น และ สมาคมผู้บริโภคจังหวัดร้อยเอ็ด ทำการเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมายเผยแพร่ในทุกจังหวัดของภาคอีสาน 

“ในการจัดการปัญหาโฆษณาดังกล่าว เมื่อปีที่ผ่านมาทางจังหวัดร้อยเอ็ดโดยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการบันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหารยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ  พบว่าการโฆษณาทางสื่อวิทยุกระจายเสียงลดลง  โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้จะขยายผลการดำเนินงานไปสู่จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานเพื่อร่วใมมือกันยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภครู้เท่าทันโฆษณาและเตรียมความพร้อมที่จะเปิดประชาคมอาเซียนในเร็วๆนี้” นางสาวจินตนา กล่าว

DSCF2627

บันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพใน กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค จังหวัดขอนแก่น” โดยสรุปดังนี้

  • ขอบเขตความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่  1. ด้านการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกัน: กำหนดให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโดยมีตัวแทนจากทุกหน่วยงาน 2. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย: เมื่อพบปัญหาเกี่ยวกับการโฆษณาที่อาจเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่ทำ MOU ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานเพื่อแจ้งผลต่อไป 3. ด้านการสร้างความตระหนักแก่สื่อมวลชนในการโฆษณาอย่างมีคุณธรรม 4. ด้านการเผยแพร่ให้ความรู้แก่ประชาชน: ให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง รวมถึงจัดทำคู่มือการโฆษณาเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ ให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักจัดรายการ
  • การดำเนินงานและบทบาทหน้าที่: มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน
  • ระยะเวลาในการทำบันทึกข้อตกลงมีผลบังคับใช้ 2 ปี ตั้งแต่ วันที่ 30 เมษายน 2558 ถึง วันที่ 30 เมษายน 2560
  • การแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลง: หน่วยงานทั้งหมดที่มีรายชื่อ  อาจแก้ไขเพิ่มเติมบันทึกข้อตกลงได้  โดยความเห็นชอบร่วมกันของทุกฝ่ายและจัดทำเป็นหนังสือ  โดยให้ถือว่าการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกข้อตกลงนี้



ข่าวบทความที่เกี่ยวข้อง:

|

พิมพ์ อีเมล