เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และองค์กรภาคีจัดสมัชชาผู้บริโภคประจำปี “ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย” โดยภายในงานมีการเสวนาเรื่อง “ทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัย” ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี
• ผู้สูงอายุเรียกร้อง ‘บำนาญแห่งชาติ’ ให้เป็นหลักประกันชีวิต
นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมือง คือมักมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองในเรื่องความเป็นอยู่ เพราะลูกหลานต้องไปทำงาน โดยเขาต้องการให้มีบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน เพราะเบี้ยยังชีพจำนวน ๖๐๐ บาทก็อยู่ลำบาก จึงต้องอาศัยให้รัฐเข้ามาดูแลประคับประคอง
“ผู้สูงอายุไม่ได้เป็นภาระของสังคม หรือชุมชน แต่เป็นคลังสมองของชุมชน ของประเทศ เป็นบุคคลที่มีคุณค่า เป็นภูมิปัญญาของสังคม ซึ่งวันหนึ่งผู้บริหารประเทศก็ต้องเป็นผู้สูงอายุ หากทำลายคลังสมองของประเทศ ประเทศจะล่มจมแน่นอน” นายเชษฐา กล่าว
ด้านนางชุลีพร ด้วงฉิม ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กรุงเทพฯ กล่าวว่า ปัญหาของผู้สูงวัยไม่ได้มีแค่เรื่องการกินอยู่เท่านั้น แต่มีปัญหาเรื่องสุขภาพด้วย เช่น ป่วยเป็นโรคความดัน ไขมัน เบาหวาน อีกทั้งสังคมไทยไม่ได้จัดระเบียบสังคมผู้สูงอายุมาก่อน โดยรัฐไม่มีสวัสดิการให้กับประชาชน คืออยู่กันมาตามยถากรรม ปัญหาจึงสะสม
“บางคนถูกว่าว่าไม่รู้จักเก็บออม โดนว่าขี้เกียจ แต่โอกาสชีวิตของคนมันไม่ใช่สูตรสำเร็จ ดังนั้นจะบอกว่าวิถีของแต่ละคนจะเหมือนกัน จึงเป็นไปไม่ได้ อย่างวันนี้ถ้าจะพัฒนาประเทศ คนวัยทำงานไม่มีเวลาหรอก เราต้องยอมรับว่าคนกลุ่มนี้เขาต้องสร้างตัวเอง ดูแลครอบครัว ไม่มีเหลือเก็บออมมากนัก ขณะที่ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังอยู่ก็ต้องออกมาช่วยเหลือ ดูแลกัน” นางชุลีพร กล่าว
ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค กรุงเทพฯ กล่าวต่อไปว่า กรณีการส่งเสริมป้องกันโรค แม้นโยบายจะดี แต่ไม่เกิดผลจริง เพราะรัฐไม่เชื่อว่าประชาชนจะจัดการตัวเองได้ รัฐต้องเข้ามาจัดการทุกอย่าง เช่น การดูแลสุขภาพ แต่ถ้าให้ชุมชนดูแลกันเองจะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งรัฐควรยอมรับว่าถึงเวลาที่รัฐต้องทำหลักประกันรายได้ให้กับคนสูงวัยแล้ว เพราะหากรัฐไม่จัดการตั้งแต่วันนี้ คนในสังคมไทยจะไม่มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เลย
“มนุษย์ทุกคนต้องการศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากมีหลักประกันรายได้ คือ เงินที่เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง เขาก็จะไม่เป็นภาระแล้ว” นางชุลีพร กล่าว
นางเรณู ภู่อาวรณ์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ขอร้องรัฐบาลให้ดูแลผู้สูงอายุ โดยอาจทำเป็นกฎหมาย เพื่อที่ผู้สูงอายุจะได้ไม่กังวล เพราะบั้นปลายชีวิตเขาลำบาก
ขณะที่ นายสงัด สิทธิรุ่ง ผู้สูงอายุจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า เขามีอาชีพเผาถ่านขาย แต่ขายไม่ได้ทุกวัน จึงมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ซึ่งทุกวันนี้ก็ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เพราะเบี้ยยังชีพ ๗๐๐ บาทที่ได้รับ จ่ายค่าน้ำค่าไฟก็หมดแล้ว และค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อยๆ
• หมอวิชัยชู ผู้สูงอายุเป็นพลังของสังคม
ภายในงานเดียวกัน มีการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นพ.วิชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ จนถึงขณะนี้มีประชากรสูงวัยกว่าร้อยละ ๑๕ และอีก ๕ ปีข้างหน้าจะเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ คือ มีผู้สูงวัยร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด โดยทั่วไป ผู้สูงอายุ แม้จะถูกมองว่าเป็นผู้พึ่งพิง แต่นั่นคืออดีต ทิศทางข้างหน้าจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติให้ผู้สูงอายุเป็นพลังของสังคม ไม่ใช่ภาระของสังคม เพราะพลังของผู้สูงอายุสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ถ้าถูกส่งเสริมไปในทางที่ดี
ประธานสมาคมฯ กล่าวต่อไปว่า ผู้สูงอายุที่เป็นผู้บริโภค มีแนวโน้มที่จะเปราะบาง เพราะ ๑.เมื่อไม่ทำงานก็ไม่มีสังคม ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ทำให้ถูกหลอกได้ง่าย ดังนั้นควรส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานทั้งงานที่มีรายได้ และมีคุณค่า ๒.ร่างกายเสื่อมโทรม จึงต้องมีระบบคุ้มครองช่วยเหลือ อย่างระบบบัตรทอง หรือข้าราชการบำนาญที่รักษาฟรี ๓.เพราะลูกหลานห่วงใย ไปซื้อหาผลิตภัณฑ์สุขภาพมาให้ ผู้สูงอายุก็จะกลายเป็นหนูทดลอง ๔.มีเวลาว่างมาก ก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อมาก
“ระบบบัตรทองของประเทศไทยเป็นระบบที่ดีที่สุดระบบหนึ่งของโลก อย่าไปรังเกียจระบบนี้ ต้องไปใช้ หากพบปัญหาก็ต้องร้องเรียน จะได้พัฒนาระบบให้ดีขึ้น ฉะนั้น เราต้องช่วยกันรักษาระบบนี้ และไปใช้บริการระบบนี้ หากอะไรไม่ดีก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้น” กรรมการควบคุมคุณภาพฯ กล่าว
นพ.วิชัย ให้ความเห็นว่า การคุ้มครองผู้สูงวัยต้องพัฒนา ๔ อย่างคือ ๑.พัฒนาผู้สูงวัยให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อให้ช่วยตัวเองได้ โอกาสถูกหลอกจะน้อยลง ๒.ส่งเสริมการพัฒนาองค์กร ให้มีการรวมกลุ่มเป็น ชมรม สมาคม ๓.ทำเครือข่ายของกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ และ ๔.ผลักดันสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น