ปาฐกถาเรื่อง ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัย

590429 news vichai
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน  ประธานสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย  ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ให้เกียรติ ปาฐกถาเรื่อง  ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัย  ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์  วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2559 ในงานการประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี“ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย”

บทนำ

          สหประชาชาติได้กำหนดนิยามว่า ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 10 หรือ         มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินร้อยละ 7 ถือว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และจะเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์เมื่อสัดส่วนดังกล่าว เพิ่มเป็นร้อยละ 20 และ 14 ตามลำดับ และหากสัดส่วนผู้มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เกินร้อยละ 25 จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

          ความสำเร็จในนโยบายวางแผนครอบครัว และการพัฒนาสาธารณสุข ทำให้ประเทศไทยย่างเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ในปี 2559 ประเทศไทยมีประชากรสูงวัยกว่าร้อยละ 15 หรือราว 10 ล้านคนแล้ว และจะก้าวสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 และสังคมสูงวัยสุดยอดในปี พ.ศ. 2578

          ในบรรดากลุ่มประเทศอาเซียน ไทยเป็นประเทศที่สองรองจากสิงคโปร์ ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ประเทศที่จะตามมาเป็นอันดับสามในกลุ่มนี้คือ เวียดนาม ไทยแตกต่างอย่างสำคัญจากสิงคโปร์ที่ สิงคโปร์นั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือเป็นประเทศร่ำรวยก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงอยู่ในภาวะ “รวยแล้วจึงแก่” แต่ไทย     “แก่เมื่อยังไม่รวย” เพราะยังติดกับดักรายได้ปานกลาง

          โดยทั่วไป ถือว่าประชากรวัยเด็กและวัยสูงอายุเป็น “วัยพึ่งพิง” หรือเป็นกลุ่ม “เปราะบาง” (vulnerable group) จึงต้องมีระบบ “คุ้มครอง” หรือการดูแลที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้น นอกจากผู้สูงอายุจะถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคมแล้ว สังคมโดยรวมจะอ่อนแอลงด้วย

พิมพ์ อีเมล