เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคสื่อแถลงผลการดำเนินงานโครงการเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
นายพชร แกล้วกล้า ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภค เฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทั้งทางสื่อวิทยุ และโทรทัศน์ เป็นระยะเวลา ๖ เดือน คือ ตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม – ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ พบว่า มีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวน ๒๐๖ ผลิตภัณฑ์ จากสื่อ ๖๔ สื่อทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ดาวเทียม และดิจิตอลทีวี โดยแบ่งเป็นประเภทอาหาร ร้อยละ ๔๙ ยา ร้อยละ ๒๙ เครื่องสำอาง ร้อยละ ๒๑ และอื่นๆ ร้อยละ ๒ โดยพบในสื่อวิทยุมากถึงร้อยละ ๖๒
นายพชร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สื่อทั้ง ๖๔ รายการนั้นเป็นโฆษณาที่ผิดกฎหมายร้อยละ ๗๓ โดยพบในสื่อวิทยุมากที่สุด รองลงมาคือดิจิตอลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ตามลำดับ ตัวอย่างเช่น โฆษณาไม่ตรงกับสรรพคุณที่ระบุไว้ มีการกระทำผิดบ่อยครั้ง โดยมากจะเป็นโฆษณาลดน้ำหนัก ทำให้ผอม ขาว รักษาสิว ฝ้า หรือริ้วรอยให้หายไป ซึ่งเป็นคำพูดที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น คำว่า “ดักจับไขมัน” ไม่สามารถใช้ได้ เป็นต้น
“จากการทำงานร่วมกันทั้งกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในบางจังหวัดยังพบปัญหาการเชื่อมต่องาน เช่น เชื่อมกับ กสทช.ภาค หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ไม่ได้ ทำให้กระบวนการทำงานล่าช้า หรือ สสจ.ไม่กล้าบังคับใช้กฎหมาย คือต้องส่งให้ อย.พิจารณาก่อน ทั้งที่ สสจ.สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เลย เป็นต้น” นายพชร กล่าว
ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายผู้บริโภคว่า ๑.รัฐต้องเร่งรัดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยทันที ๒.หน่วยงานกำกับดูแลต้องมีมาตรการจัดการปัญหาที่เด็ดขาด รวดเร็วและเห็นผลได้จริง ๓.ให้ อย.เร่งจัดทำฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหารและให้สาธารณชนเข้าถึงได้ ๔.ให้ กสทช.เร่งดำเนินการให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการสื่อ ๕.ให้มีคณะทำงานเฉพาะด้านจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย และ ๖.ให้ อย.เร่งรัดปรับปรุงบทลงโทษตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ด้านนายสุนทร สุริโย ผู้ประสานงานศูนย์คุ้มครองสิทธิจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า จากข้อมูลที่พบจะนำไปสู่การแก้ไขในการเฝ้าระวังสื่อ ทั้งวิทยุ และโทรทัศน์ โดยความร่วมมือของโทรทัศน์ดาวเทียมมีความคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา มีการหารือร่วมกันระหว่าง กสทช. เครือข่ายผู้บริโภค และผู้ประกอบการโครงข่ายโทรทัศน์ดาวเทียม เช่น บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด ฯลฯ อันนำมาถึงความร่วมมือในการแก้ปัญหาโดยตรง คือ หากพบโฆษณาที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ให้เครือข่ายผู้บริโภคแจ้งกับผู้ประกอบการโดยตรง และหากไม่แก้ไขภายใน ๗ วัน ผู้บริโภคก็สามารถส่งเรื่องไปยัง กสทช.และ อย.ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้แจ้งไปยังผู้ประกอบการจำนวน ๒๗ เรื่อง จาก ๑๕ ช่องรายการ
“ส่วนใหญ่จะทำความร่วมมือกับสื่อวิทยุในท้องถิ่น อย่างเพชรบุรีโมเดล ที่มีการชวนผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และผู้ว่าฯ มาวางแผนร่วมกันว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร ซึ่งเราต้องการให้มีการจัดการปัญหาเช่นนี้ในทุกๆ จังหวัด เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค” นายสุนทร กล่าว
นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ เจ้าหน้าที่สื่อ มพบ. ให้ความเห็นว่า ต้องการเชิญชวนผู้บริโภค เมื่อพบโฆษณาผิดกฎหมายให้อัดคลิปวิดีโอความยาว ๑ นาที แล้วบันทึกข้อความสำคัญเช่น ชื่อผลิตภัณฑ์ที่พบ ออกอากาศวันที่เท่าไหร่ เวลากี่โมง เนื้อหาโดยสรุปของโฆษณา และส่งหลักฐานมาที่เฟซบุ๊คของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นายวิทยา ทาแก้ว ผู้แทนกลไกภาคเหนือและเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนสมาคมชีวิตดี จ.ลำปาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภาคเหนือเฝ้าระวังสื่อวิทยุเป็นส่วนใหญ่ โดยการกระทำผิดของโฆษณาจะใช้วิธีการอวดอ้างสรรพคุณของส่วนผสมที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ การสัมภาษณ์ผู้ป่วยที่ใช้ผลิตภัณฑ์นั้นแล้วเห็นผลดีอย่างไร รวมทั้งการอวดอ้างผลิตภัณฑ์โดยผู้จัดรายการวิทยุ
“จากการเฝ้าระวังสถานี กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของผลิตภัณฑ์ และสถานียังเป็นสถานที่ขายสินค้านั้นด้วย โดยผู้จัดรายการจะเป็นคนขายสินค้านั้นๆ ซึ่งน่าจะผิดจรรยาบรรณสื่อ” นายวิทยา กล่าว
ทั้งนี้เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลไกประสานงานระดับภาคของเครือข่ายผู้บริโภค ๕ ภาค และองค์กรผู้บริโภคใน ๑๒ จังหวัด คือ กทม. ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาญจนบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สตูล และสงขลา