นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลสำรวจปริมาณสารอาหารในนมทางเลือกพร้อมดื่ม ประเภท นมถั่ว นมข้าว นมมะพร้าว นมแพะ โดยพบว่า นมบางยี่ห้อมีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 14 กรัม ซึ่งหากดื่ม 2 กล่อง ต่อวัน อาจได้รับน้ำตาลมากเกินต่อปริมาณที่แนะนำ 24 กรัมต่อวัน (6 ช้อนชา)
นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำการสำรวจฉลากโภชการ ”นมทางเลือก” จำนวน 16 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ โดยการสำรวจฉลาก”นมทางเลือก”ประเภท นมถั่ว นมข้าว นมมะพร้าว นมแพะ ว่ายี่ห้อไหนมีน้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน รวมทั้งปริมาณพลังงาน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ซึ่งเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เก็บตัวอย่างเดือนมีนาคม 2564 และผลการสำรวจเฉพาะตัวอย่างที่สุ่มเท่านั้น
จากการสำรวจของนิตยสารฉลาดซื้อพบว่า นมทางเลือกที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด ได้แก่ เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอก ยี่ห้อวี-ฟิท มีปริมาณน้ำตาล สูงที่สุดคือ 14 กรัม ส่วนยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ ยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวัน ไม่พบน้ำตาล ด้านปริมาณพลังงานพบว่า ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีพลังงานสูงที่สุดคือ 180 กิโลแคลอรี ส่วนยี่ห้อบลูไดมอนด์ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ รสออริจินอล และ ยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมพิสตาชิโอ เบลนด์หิมพานต์ สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน พบพลังงานต่ำที่สุดคือ 45 กิโลแคลอรี ส่วนปริมาณโปรตีน พบว่า ยี่ห้อศิริชัย เครื่องดื่มนมแพะ ยูเอชที มีโปรตีนสูงที่สุด คือ 6 กรัม และนมที่มีโปรตีนต่ำที่สุดคือไม่ถึง 1 กรัม มี 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อยูเอฟซี เวลเวท เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว รสจืด ยี่ห้อซันคิสท์ เครื่องดื่มน้ำนมพิสทาชิโอ รสออริจินอล ยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ ยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมวอลนัท สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน สุดท้ายคือปริมาณคารโบไฮเดรต พบว่า ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ พบว่ามีคาร์โบไฮเดรตสูงที่สุดคือ 31 กรัม ส่วนยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวัน พบปริมาณคารโบไฮเดรตต่ำที่สุดคือ 1 กรัม
ทั้งนี้ การดื่มนมทางเลือกเป็นตัวช่วยสำหรับผู้บริโภคที่มีอาการแพ้นมวัว ซึ่งหากแพ้นมวัวมีอาการดังนี้ อาการเกิดขึ้นหลังจากดื่มนมวัวภายใน 15 นาที – 2 ชั่วโมง มีอาการแพ้แตกต่างกันไป เช่น มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง, ลมพิษ, ปากบวม, ลิ้นบวม, หายใจลำบาก, ปวดท้อง หรืออาเจียน เป็นต้น หากดื่มมีอาการแพ้นมวัวสามารถดื่มนมทางเลือกทดแทนได้ นอกจากนี้ ในทางการโภชนาการระบุไว้ว่า การบริโภคน้ำตาลในปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมต่อวัน มีดังนี้ เด็กและผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 16 กรัม ต่อวัน (4 ช้อนชา) วัยรุ่นหญิงชาย อายุ 14 – 25 ปี ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 24 กรัม ต่อวัน (6 ช้อนชา) รายละเอียดอ่าน https://www.chaladsue.com/article/3788