ลูกหนี้มีเฮ! ราชกิจจาฯ ประกาศอัตราค่าทวงหนี้ แก้เจ้าหนี้คิดค่าธรรมเนียมสูงโดยไม่มีเกณฑ์

ภาพข่าว ทวงหนี้ 2 01 1

 

ราชกิจจาฯ ประกาศเรื่องการกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้แก้ปัญหาที่พบบ่อย เจ้าหนี้คิดค่าธรรมเนียมสูงเกินเหตุ ไม่มีหลักเกณฑ์คิด เอาเปรียบลูกหนี้และไม่เป็นธรรม

       เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่อง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (1) ประกอบมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติทางทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 โดยกำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ได้ ดังนี้ กรณีมีหนี้ค้างชำระหนึ่งงวด เรียกเก็บไม่เกิน 50 บาทต่อรอบ กรณีมีหนี้ค้างชำระมากกว่าหนึ่งงวด เรียกเก็บไม่เกิน 100 บาทต่อรอบ สำหรับหนี้ประเภทให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลิสซิ่งในสินค้าระเภทรถ เรียกเก็บไม่เกิน 400 บาทต่อรอบ เฉพาะมีหนี้ค้างชำระมากกว่าหนึ่งงวด ทั้งหมดนี้ห้ามไม่ให้เก็บสำหรับลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 1,000 บาท ซึ่งประกาศที่ออกมาจะมีผลบังคับใช้ โดยนับจากวันที่ประกาศพระราชกิจจาฯ ไป 30 วัน ก็น่าจะตรงกับวันที่ 12 ก.ย. 2564

      นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส่วนงานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ประกาศนี้เป็นกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว แต่ยังไม่มีหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการทวงถามหนี้ ซึ่งในปัจจุบันนี้จะพบปัญหา เรื่องค่าติดตามทวงถามหนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงเกิดการทวงหนี้โหด เช่น การทำร้ายร่างกายของหนี้นอกระบบ หรือการคิดค่าใช้จ่ายการติดตามทวงหนี้ไฟแนนซ์ที่สูงเกินเหตุ
      “กรณีที่เห็นชัด คือ การเช่าซื้อรถยนต์ กรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ทางบริษัทผู้ทวงหนี้จะคิดค่าใช้จ่ายการติดตามทวงถามหนี้ 60,000 บ้าง 30,000 บ้าง 5,000 บ้าง ที่ไม่มีข้อกำหนดตายตัวหรือหลักฐานมาแสดง เช่น บางบริษัทมีค่าจัดทำเอกสาร ค่ายกเลิกสัญญา ค่ากลับเข้าคู่สัญญา นอกจากนี้ในตอนที่ลูกหนี้ไปโอนกรรมสิทธิ์เมื่อจ่ายเงินครบแล้ว ไฟแนนซ์จะอ้างว่ามีค่าติดตามทวงหนี้ค้างอยู่หลายหมื่นบาท ทั้งๆ ที่ไม่มีหลักเกณฑ์การคิดเลย จึงกลายเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการหรือไฟแนนซ์เอาเปรียบลูกหนี้ในเรื่องการคิดค่าติดตามการทวงหนี้ ทั้งๆ ที่บางคนแค่โทรศัพท์ หรือส่งจดหมาย หรืออาจจะมีการติดตามเอารถคืนแต่ไม่มีหลักฐานว่าใช้จ่ายเท่าไร” รองผู้อำนวยการส่วนงานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว

    นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส่วนงานศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  กล่าวว่า จากการช่วยเหลือคดีผู้บริโภค มูลนิธิฯ เจอเรื่องฟ้องคดีเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการติดตามเอารถคืนหรือค่าใช้จ่ายในการทวงถามหนี้สูงเป็นจำนวนมาก และไม่มีหลักเกณฑ์ในการคิด ประกาศพระราชกิจจาฯ เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการทวงถามหนี้ จึงมีไว้เพื่อควบคุม หลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียม ที่เจ้าหนี้จะคิดได้ และทำให้ลูกหนี้มีแนวทางในการจัดการปัญหาหนี้ของตัวเองได้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้จะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น

347069

Tags: พ.ร.บ.การทวงถามหนี้, ทวงหนี้, ทวงหนี้โหด, กฏหมายทวงหนี้, ทวงถามหนี้

พิมพ์ อีเมล