มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการ เปิดเวทีเสวนาความก้าวหน้า ‘ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...’ ย้ำต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ และมีสภาเดียวเป็นตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศ
วันนี้ (29 ตุลาคม 2561) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านยาและสุขภาพ (มวคบ) คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดเวทีเสวนาความก้าวหน้า ‘ร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...’ ในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เวลา 10.30 - 12.00 น. เพื่อแจ้งความคืบหน้าการจัดทำร่างกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ หลังจากที่กฎหมายได้รับอนุมัติหลักการจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 และกำลังพิจารณาที่คณะกรรมการกฤษฏีกา (คณะพิเศษ) ซึ่งมี นายมีชัย ฤชุพันธ์เป็นประธาน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการจัดทำกฎหมายดังกล่าวกับองค์กรภาคีเครือข่ายผู้บริโภค
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภค ฉบับที่มีการปรับแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฏีกา (คณะพิเศษ) ผิดไปจากหลักการที่คิดไว้ คือ การให้สภาองค์กรของผู้บริโภคนี้มีหลายสภา เนื่องจากเห็นตัวอย่างจากสภาองค์กรลูกจ้างที่ตอนนี้มีถึง 12 องค์กร ปรากฏว่าเกิดปัญหาขัดแย้งกันเอง จึงต้องการให้มีเพียงสภาเดียวเพื่อลดปัญหาเหล่านี้
“คณะพิเศษชุดนี้มองไม่เหมือนกับภาคประชาชน เขาไม่ได้มองว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นองค์กรอิสระ แต่เป็นองค์กรภาคประชาชน ไม่ได้เป็นองค์กรของรัฐ และน่าจะไม่ได้มีเพียงสภาเดียวเหมือนที่คาดหวังไว้ ส่วนเรื่องการสนับสนุนงบประมาณนั้นขึ้นอยู่กับมติ ครม. ซึ่งทำให้ต้องไปหาเงินโดยวิธีอื่น แสดงให้เห็นว่าสภาองค์กรผู้บริโภคนี้ไม่มีหลักประกันอะไรเลย จึงอยากให้ผู้บริโภคช่วยกันแสดงความคิดเห็นว่าเราต้องการแบบนี้จริงๆ ไหม”
ขณะที่นางสาวทรงศิริ จุมพล ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี สคบ. กล่าวว่า สคบ. ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จนได้มา 32 มาตรา โดยเนื้อหาหลักๆ ได้แก่ เรื่องชื่อของกฎหมาย สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ การขึ้นทะเบียนขององค์กรของผู้บริโภค อำนาจหน้าที่ในการเป็นตัวแทนผู้บริโภค เป็นต้น หลังจากนั้นจึงได้นำร่างฉบับนี้ไปสอบถามความเห็นจากหลายๆ ภาคส่วน ทั้ง องค์กรที่เกี่ยวกับผู้บริโภคในภูมิภาคต่างๆ ต่อมาจึงนำไปเสนอต่อครม. และผ่านการเห็นชอบ ได้ข้อสังเกตว่า อำนาจหน้าที่ของกฎหมายฉบับนี้ควรแยกออกจากหน่วยงานรัฐให้ชัดเจน เพราะมีอำนาจหน้าที่บางอย่างที่มีความคล้ายคลึงกัน และอาจจะเกี่ยวข้องกับการจัดงบประมาณให้กับองค์กรของผู้บริโภคฉบับนี้ด้วย
ด้านนางสาววริยา เด็ดขาด อาจารย์คณะนิติรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด กล่าวว่า ในฐานะนักวิชาการมองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรงในการที่จะดูแลพลเมือง เมื่อพลเมืองกลายเป็นผู้บริโภคและถูกละเมิดสิทธิจากการบริโภค รัฐต้องเข้ามาจัดการ แต่รัฐต้องยอมรับว่าการมีเพียงแค่หน่วยงานเดียวไม่น่าจะเพียงพอในการดูแลประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยพลังประชาชนในการคุ้มครองสิทธิของตัวเอง และจะต้องมีองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดพลังมากยิ่งขึ้น
“องค์กรนี้ควรเป็นองค์กรอิสระ เพราะว่าเราได้บทเรียนจากการทำงานของรัฐมา คือ รัฐทำงานอยู่ภายใต้การบังคับควบคุมจากหน่วยงานลงมาอีกที ส่วนของภาคประชาชนเองนั้นควรเป็นอิสระ คือ อย่างน้อยควรมีอิสระจาก 5 ด้าน ได้แก่ อิสระในการรวมตัว อิสระในเรื่องของอำนาจหน้าที่ อิสระเรื่องงบประมาณ อิสระในเรื่องของการไม่ถูกควบคุมจากรัฐหรือภาคธุรกิจ รวมทั้งเรื่องการทำงานที่ไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานของรัฐ”
นางสาววริยาเพิ่มเติมว่า การกำหนดตัวคณะกรรมการ เห็นว่าจำนวนสัดส่วนของกรรมการในเขตพื้นที่จะต้องมีสัดส่วนที่มากกว่ากรรมการผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากจะได้กำหนดนโยบายหรือข้อบังคับต่างๆ สำหรับภาคประชาชนได้อย่างแท้จริงและชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น ส่วนอำนาจหน้าที่บางอย่าง เช่น การไกล่เกลี่ยนั้น สภาองค์กรผู้บริโภคควรจัดอบรมให้กับสภาผู้บริโภคของแต่ละจังหวัดเพื่อลดคดีความให้มาสู่ศาลมีปริมาณที่น้อยลงตามยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้
ส่วนนายไพศาล ลิ้มสถิตย์ อาจารย์จากศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาร่างของคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นสอดคล้องกับหลายๆ ท่าน ที่ไม่ค่อยจะเห็นด้วย และเห็นว่าร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรของผู้บริโภคของ สคบ. ที่เสนอและผ่านมติของ ครม. แล้ว ไม่ขัดต่อหลักการของรัฐธรรมนูญ คิดว่าร่างที่กฤษฎีกาทำนี้น่าจะขัดรัฐธรรมนูญมากกว่า แต่ก็เข้าใจว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาอาจจะไม่เคยกำหนดกฎหมายให้มีสภาองค์กรผู้บริโภค แล้วได้รับทุนหรืองบสนับสนุนจากภาครัฐเช่นนี้มาก่อนก็ได้
นายไพศาล กล่าวอีกว่า จากการศึกษาโมเดลในหลายๆ ประเทศ โมเดลที่คิดว่าน่าสนใจมาก คือ โมเดลของประเทศญี่ปุ่น คือ ประเทศญี่ปุ่นจะมีการจัดตั้งหน่วยงานรัฐที่มีชื่อว่า National Consumer Affair center (NCNA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายๆ สคบ. โดยเป็นตัวกลางคอยเชื่อมการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคธุรกิจ หน่วยงานนี้จะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นอิสระ และมีกฎหมายจัดตั้งอย่างชัดเจน คิดว่าองค์กรของผู้บริโภคของประเทศไทยควรจะยกระดับให้เป็นเหมือนองค์กรของญี่ปุ่น โดยมีการบัญญัติอย่างชัดเจนไปว่าเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ. ที่ถูกต้องแล้ว
ด้านนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ รักษาการแทนเลขาธิการ คปก. กล่าวว่า ข้อดีของร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภค คือ เขาให้อำนาจในการจัดตั้งกันเอง เพราะฉะนั้นรายละเอียดจะไม่ได้ถูกเขียนไว้ในกฎหมายเพราะจะเป็นการผูกมัดตัวเอง อีกทั้งต้องยอมรับว่าเมื่อมีงบประมาณจากรัฐเข้ามาสนับสนุน สถานภาพของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป และจะไม่เหมือนกับมูลนิธิต่างๆ ที่อยากผลักดันเพราะไม่มีเงินสนับสนุนจากรัฐเข้ามาช่วย ทุกคนต้องหาเงินเอง แต่เมื่อมีงบประมาณของรัฐเข้ามาจะมีผู้บริโภคอีกมากมายเข้ามา เพราะทุกคนมีสิทธิใช้เงินของรัฐ
“เห็นด้วยที่จะให้มีสภาองค์กรของผู้บริโภค และหากมีองค์กรนี้ขึ้นมาควรจะต้องแก้ไขกฎหมายของ สคบ. ในบางอำนาจหน้าที่ เนื่องจากมีบางมาตราที่มีความซ้ำซ้อนกัน เช่น มาตรา 10 ของกฎหมาย สคบ. ที่พูดถึงการส่งเสริม พัฒนา และคุ้มครองผู้บริโภค คือ สคบ. จะไม่ต้องดำเนินการอีกเลยหากองค์กรนี้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรจะต้องตัดอำนาจหน้าที่บางส่วนที่ซ้ำกันออกไป” นางสาวศยามลกล่าว
ตอนนี้ ‘ร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...’ ร่างฉบับแรกเพิ่งจะผ่านมติ ครม. * ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ในตอนนี้มีการจัดตั้งคณะพิเศษขึ้นมาดูแล เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 และได้ปรับกฎหมายเป็นร่าง พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นความเปลี่ยนแปลง ณ ปัจจุบัน และวันพุธนี้ (31 ตุลาคม 2561 ) อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว
*โดยปกติขั้นตอนการทำกฎหมาย เมื่อผ่านมติ ครม. จะถูกส่งต่อไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อ
ร่วมติดตาม Facebook LIVE เวทีเสวนา "ความก้าวหน้าร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ..." ได้ที่เฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค