ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2559 จำนวนทั้งสิ้น 534 คดี
เมื่อวันที่ 7 ตค. 60 ในเวทีความร่วมมือศูนย์ทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีการนำเสนอกรณีการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านคดี ตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2559 จำนวน 534 คดี แบ่งเป็นคดีอุบัติเหตุรถโดยสาร จำนวน 205 คดี หมวดคดีนิติกรรมสัญญา จำนวน 161 คดี หมวดคดีประกันภัย จำนวน 59 คดี หมวดคดีละเมิด จำนวน 43 คดี หมวดคดีหนี้ จำนวน 34 คดี หมวด คดีอาญา จำนวน 18 คดี หมวดคดีปกครอง (คดีสาธารณะ) จำนวน 14 คดี ทั้งนี้ได้แบ่งเป็นคดีผู้บริโภค จำนวน 298 คดี คิดเป็นร้อยละ 55.81% คดีทั่วไป 222 คดี คิดเป็นร้อยละ 41.57% คดีสาธารณะ จำนวน 14 คดี คิดเป็นร้อยละ 2.62%
นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า หากมีผู้บริโภคที่ติดต่อขอความช่วยเหลือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจะสอบข้อเท็จจริงและเก็บข้อมูลหลักฐานส่งให้กับอนุกรรมการพิจารณาคดี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อพิจาณาให้การช่วยเหลือรวมถึงการแต่งตั้งทนายมาดำเนินคดี
“ศูนย์ทนายความฯ จะมีหลักเกณฑ์ในการรับช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้บริโภคอยู่แล้ว คือ 1. คดีที่มีผลต่อสาธารณะ มีผู้เสียหายเป็นจำวนมาก 2. คดีที่ฟ้องเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค 3. คดีที่เกี่ยวข้องกับโครงการที่มูลนิธิฯ ทำอยู่เช่น คดีรถโดยสารสาธารณะ 4. คดีที่ผู้บริโภคขอความช่วยเหลือโดยตรงที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ 5. คดีที่เครือข่ายขอความช่วยเหลือ 6. คดีที่สืบเนื่องจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค เช่น กรณีการถูกฟ้องคดีอาญาเนื่องจากการใช้สิทธิร้องเรียน 7. คดีที่คณะกรรมเห็นว่าควรให้การช่วยเหลือ” หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว
หัวน้าศูนย์ทนายความอาสากล่าวเพิ่มเติมว่า “การช่วยเหลือผู้บริโภคฟ้องคดีนั้น ผู้บริโภคกับทนายความต้องทำงานร่วมกัน โดยผู้บริโภคต้องมีช่วยในการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดที่ได้รับความเสียหาย การบันทึกเหตุการณ์ปัญหาตั้งแต่ต้นจนถึงวันที่เข้าขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการด้านคดี ส่วนผู้บริโภคที่ถูกฟ้อง เช่น คดีบัตรเครดิต หรือ คดีผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ แล้วไม่รู้จะทำอย่างไร อยากให้ตั้งสติ แล้วดูรายละเอียดคำฟ้องหรือความเสียหายที่ถูกฟ้อง พร้อมกับหลักฐานข้อเท็จจริงนำมาให้ทางศูนย์ทนายเพื่อจะทำให้การจัดการปัญหาได้รวดเร็วขึ้น”
ทั้งนี้ หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคได้ยกตัวอย่างกรณีที่ผู้บริโภคซื้อรถยนต์แล้วชำรุดบกพร่อง ก็ให้เก็บหลักฐานการซ่อม ใบเสร็จรับเงิน รูปถ่ายรถยนต์ ระยะเวลาการซ่อม เพื่อนำมาประกอบการฟ้องคดีให้ผู้ประกอบการเยียวยา หรือกรณีผู้เสียหายจากการใช้บริการเสริมความงาม เมื่อพบว่าหลังใช้บริการมีความผิดปกติ ให้ถ่ายรูปบริเวณที่ทำศัลกรรม และให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลตรวจและออกใบรับรองแพทย์ไว้เป็นหลักฐาน
นอกจากนี้ ในเวทีความร่วมมือเครือข่ายทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แลกเปลี่ยนสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ร่วมกับทนายภาคอื่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาความมือในการช่วยเหลือผู้บริโภค