มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือคัดค้านการแก้กฎหมายอาหารและมาตรฐานสินค้าเกษตร ถ่ายโอนภารกิจคุมอาหารนำเข้า-ส่งออกจาก อย. สู่ กระทรวงเกษตรฯ หวั่นกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ ทำลายกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของคนไทยทั้งชาติ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำหัวตะปูความเห็นคณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช. ด้านอาหารฯ) ค้านร่าง พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร – พ.ร.บ.อาหารฯ ฉบับกระทรวงเกษตรฯ ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกฎหมายตัวเองเหตุใดให้กระทรวงอื่นมาจัดการ ชี้หากร่างกฎหมายผ่านเท่ากับกินรวบคุมอำนาจนำเข้า-ส่งออกอาหาร สุ่มเสี่ยงลักไก่เจรจาต่อรองการค้า ทำลายระบบคุ้มครองผู้บริโภค ทวงถามอีกครั้งกับผลประเมินงาน หลังผ่านการถ่ายโอนภารกิจมาแล้ว 1 ปี
วันนี้ (25 ก.ค. 60) เวลา 13.00 น. ณ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายพชร แกล้วกล้า ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะได้มายื่นหนังสือโดยตรงต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในนามของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อตอกย้ำความเห็นของ คอบช. ด้านอาหารที่คัดค้านร่าง ก.ม.มาตรฐานสินค้าเกษตร - ก.ม.อาหารฯ ฉบับกระทรวงเกษตรฯ เพราะหากปล่อยให้ดำเนินการต่อไปจะทำลายกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารของคนไทยทั้งชาติ โดยมีนายวีรวัฒน์ วรกิจวิวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานประสานการเมือง สำนักงานรัฐมนตรี เป็นผู้แทนรับหนังสือ
“กระทรวงเกษตรฯ ให้เหตุผลของการถ่ายโอนอำนาจการดูแลสินค้านำเข้าจาก อย. มายังกระทรวงฯ ว่า เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าในการเปิดตลาด หรือเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า, เพื่อแก้ปัญหาสินค้าส่งออกที่ถูกตีกลับต้องถูกตรวจสอบซ้ำ และใช้เวลานาน, เพื่อแก้ปัญหาสินค้านำเข้าต้องถูกตรวจสอบจากทั้ง 2 หน่วยงานทำให้เป็นภาระของผู้ประกอบการเหตุผลนี้ฟังเร็วๆ อาจดูเข้าท่าและอาจส่งผลดีทางเศรษฐกิจ แต่สะท้อนว่า หน่วยราชการคำนึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมาก่อนความปลอดภัยของผู้บริโภค ทั้งที่การตรวจสอบอาหารนำเข้าและอาหารส่งออกที่ถูกตีกลับควรถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดคำถามว่า นั่นเป็นการดูแลประชาชนจริงหรือไม่ หากเอาอำนาจการตรวจสอบอาหารนำเข้าไปไว้ที่ กระทรวงเกษตรฯ อัตรากำลังและงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ มีมากกว่า สธ. ทำดีกว่า สธ.จริงหรือ ถ้าเช่นนั้นเหตุใดจึงไม่สามารถควบคุมคุณภาพงานในกำกับของ กษ.เอง อย่างการตรวจรับรองผัก-ผลไม้”
ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า ผลการทดสอบสารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างในผัก-ผลไม้ ที่มีเครื่องหมายรับรอง (ตรา Q) ของกระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมาว่าตกมาตรฐานเกินครึ่งของตัวอย่างที่ไทยแพนเก็บ และตกมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง
“แค่เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่กระทรวงเกษตรฯ ดูแล ยังสร้างความเชื่อมั่นได้ลำบาก แล้วถ้าขยายอำนาจการดูแลอาหารนำเข้าหน้าด่านทั้งหมดและยังรวมอาหารที่ถูกตีกลับจากต่างประเทศ จะเอาอะไรมารับประกันว่าเชื่อถือได้”
ทั้งนี้ มาตรฐานการดูแลความปลอดภัยด้านอาหารสากลนั้น การควบคุมความปลอดภัยอาหารทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าควรเป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่สอดคล้องกับหลักการควบคุมอาหารของสากล ไม่พึงนำเรื่องการย่อหย่อนการตรวจสอบอาหารนำเข้าไปเจรจาต่อรองการค้าให้ได้ส่งออกมากขึ้น
“กระทรวงเกษตรฯ มาสนับสนุนการส่งออก ก็ดูแลอาหารส่งออก ให้มีมาตรฐานที่ดี ก็จะไม่มีปัญหาการตีกลับ ส่วน อย. ดูแลอาหารนำเข้า โดยเมื่ออาหารที่ส่งออกไปถูกตีกลับก็มาเข้าสู่กระบวนการอาหารนำเข้า ก็ต้องเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค เป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเปลี่ยนผู้รับผิดชอบหน้าที่ อีกทั้งสินค้าเกษตร และอาหารไม่สามารถแบ่งแยกกันได้ด้วยคำนิยาม เนื่องจากพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารมาจากการเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารด้วยการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้า แต่ไม่ควรเอาเงื่อนไขทางด้านความปลอดภัยอาหารเป็นประเด็นในการเจรจาต่อรองทางการค้า
ดังนั้น วันนี้เราจึงมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันหลักการการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ปล่อยให้กระทรวงเกษตรแก้ไข พ.ร.บ.อาหารฯ แล้วนำความปลอดภัยของผู้บริโภคไปเป็นข้อต่อรองทางการค้า”
นอกจากนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังทวงถามข้อมูลและแนวทางการจัดการสินค้าส่งกลับที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ในกระบวนการตรวจสอบสินค้าส่งกลับที่พบสิ่งไม่ถูกต้อง และผลการประเมินผลงานตลอด 1 ปี หลังถ่ายโอนภารกิจ
“จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการชี้แจง แล้วจะให้เราเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า สินค้าที่นำเข้าซึ่งรวมสินค้าที่ถูกตีกลับด้วยนั้น จะมีความปลอดภัย เหมาะสมแก่การขายซ้ำเพื่อการบริโภคในประเทศ เพราะสินค้าของที่ถูกตีกลับนั้นไม่ใช่มีปัญหาแค่เรื่องผิดฉลากดังที่กระทรวงเกษตรฯ มักกล่าวอ้าง
มาตรวจพบในภายหลังว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบการปนเปื้อน สธ.จะต้องแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ กษ.ทราบเพื่อขอให้ กษ.ระงับการนำเข้า และเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาดเนื่องจาก สธ.ไม่มีอำนาจในการควบคุมอาหารในรหัสพิกัดดังกล่าวตามนิยามของคำว่าอาหาร ซึ่งหากแยกบทบาทให้สองกระทรวงจะทำให้การปฏิบัติการล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายได้" ผู้ช่วยเลขาธิการฯ กล่าว
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้เคยแถลงข่าวคัดค้านการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่างกฎหมายเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร และ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อถ่ายโอนภารกิจการดูแลอาหารนำเข้าและส่งออกไปที่กระทรวงเกษตรฯ เนื่องจากเห็นชัดว่าเป็นการทำลายระบบการคุ้มครองผู้บริโภค และได้มีการส่งหนังสือไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพร้อมสำเนาเรียนบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
เอกสารข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
การแก้ไขพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรวจสอบและกำกับดูแลการนำเข้า – ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร
ความเป็นมา
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้กลไกของการควบคุมอาหารนำเข้า-ส่งออกบางส่วนได้แก่ การออกอนุญาตนำเข้า การกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการนำเข้า และการตรวจสอบอาหารนำเข้า อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวคือร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. .... แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบสินค้าเกษตรซึ่งเป็นอาหารบางรายการให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว โดยอ้างว่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งจะเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้าในการเปิดตลาด หรือเจรจาแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า, แก้ปัญหาสินค้าส่งออกที่ถูกตีกลับต้องถูกตรวจสอบซ้ำ และใช้เวลานาน, แก้ปัญหาสินค้านำเข้าต้องถูกตรวจสอบจากทั้ง 2 หน่วยงานทำให้เป็นภาระของผู้ประกอบการ และแก้ปัญหาเนื่องจากอัตรากำลังและงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับการตรวจสอบอาหารนำเข้ามีจำกัด
ปัญหา
กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้งการป้องกันและการรักษาโรค ด้วยการทำงานแบบเครือข่ายบริการสุขภาพ ซึ่งอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มีความสำคัญต่อการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ดังนั้นการควบคุมความปลอดภัยอาหารทั้งที่ผลิตในประเทศ และนำเข้าจึงควรเป็นบทบาทหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่สอดคล้องกับหลักการควบคุมอาหารของสากล
สินค้าเกษตรและอาหารไม่สามารถแบ่งแยกกันได้ด้วยคำนิยาม เนื่องจากพื้นฐานของอุตสาหกรรมอาหารมาจากการเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารด้วยการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศคู่ค้า แต่ไม่ควรเอาเงื่อนไขทางด้านความปลอดภัยอาหารเป็นประเด็นในการเจรจาต่อรองทางการค้า
การแยกการควบคุมกำกับดูแลอาหารนำเข้าออกเป็น 2 หน่วยงานตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ ให้กระทรวงเกษตรเป็นผู้ออกใบอนุญาตสถานที่นำเข้าอาหาร ออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขการตรวจสอบอาหารนำเข้า รวมทั้งตรวจสอบอาหารนำเข้า ณ ด่าน และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ขึ้นทะเบียน หรือรับจดแจ้งรายละเอียดของผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า และให้ทำหน้าที่ตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดนั้น นอกจากจะไม่สามารถลดภาระของผู้ประกอบการที่ต้องติดต่อ 2 หน่วยงานแล้วยังอาจเพิ่มความขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ส่งเสริมการขายสินค้า หากทำหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขการตรวจสอบอาหารนำเข้า ณ ด่านด้วย จะมีปัญหาการเลือกปฏิบัติได้ง่ายและส่งผลกระทบทางด้านลบได้มากกับผู้บริโภค ซึ่งได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการจัดการโรควัวบ้าของกระทรวงเกษตรแห่งสหราชอาณาจักรจนเป็นหายนะด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ของโลก
ยิ่งไปกว่านั้น หากกระทรวงสาธารณสุขมาตรวจพบสินค้านำเข้าปนเปื้อนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในภายหลังที่กระทรวงเกษตรฯตรวจปล่อยผ่านด่านเข้ามาแล้ว จะเกิดความยุ่งยากล่าช้าในการเรียกเก็บสินค้าคืน เพราะ กระทรวงสาธารณสุขจะต้องแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้กระทรวงเกษตรฯทราบเพื่อขอให้กระทรวงเกษตรระงับการนำเข้า และเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาด เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจในการควบคุมอาหารในรหัสพิกัดดังกล่าวตามนิยามของคำว่าอาหาร ซึ่งหากแยกบทบาทให้สองกระทรวงจะทำให้การปฏิบัติการล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายได้
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ด้วยเหตุผลที่กล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงไม่ควรเห็นด้วยที่จะให้แยกการควบคุมอาหารนำเข้าไปดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร เพราะขัดกับหลักการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบงานควบคุมความปลอดภัยของอาหารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ จึงเสนอให้ระงับร่าง พ.ร.บ. มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ….ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่างขึ้น
สำหรับปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมีข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ ดังนี้
(1) การดำเนินการเกี่ยวกับสินค้าส่งออกที่ถูกตีกลับ เสนอปรับหลักเกณฑ์การปฏิบัติ กรณีไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายภายในประเทศ ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้าได้ แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายภายในประเทศ โดยให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งทำลายหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านการประชุมคณะกรรมการอาหารทุกกรณี
(2) อำนาจในการเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้า การแก้ไขกฎหมายไม่ช่วยแก้ปัญหานี้โดยตรง เนื่องจากกฎหมายอาหารมีเจตนารมณ์เพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องที่ใช้ในการต่อรองทางการค้าแต่ควรใช้เทคนิคทางด้านการเจรจาอื่นๆ และควรให้กระทรวงสาธารณสุขรับทราบหรือให้ความเห็นต่อข้อเจรจาด้วยหากเกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของอาหาร