วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๓.๐๐น. ที่วัดป่าศิริวันวนาราม ถ.ศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น โดยอาจารย์จิระนันท์ พากเพียร อุปนายกสมาคมฯ และนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมฯ ไปพบญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะเพื่อแจ้งสิทธิผู้ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ชื่อนางสาวนลิน หวังเจริญ อายุ ๒๐ ปี เป็นนักศึกษาชั้นปี ๒ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ ซึ่งอุบัติเหตุนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ เวลา ๑๑.๐๐ น. ถนนเลี่ยงเมือง บ้านหนองแสง ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นรถบัสโดยสารสีชมพูสายอุดร-ร้อยเอ็ด ออกจากสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ ๓ จ.ขอนแก่นมุ่งหน้าไป จ.มหาสารคาม มีผู้โดยสาร ๓๒ คน ช่วงเวลาเกิดเหตุฝนตก พอมาถึงที่เกิดเหตุเบรกรถแล้วลื่นลงข้างทาง
นางราณี มณีดวง มารดาของผู้เสียชีวิต เล่าว่าพอทราบว่าลูกสาวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวทำอะไรไม่ถูก ทำไมต้องด่วนจากกันไปเร็วขนาดนี้เพราะช่วงเช้าก็พูดคุยกันเป็นปกติและไปส่งที่ บขส.๓ ขอนแก่นเพื่อเดินทางไปเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นเด็กเรียนดี เป็นความหวังของตนที่จะได้พึ่งพาอาศัยในอนาคต ซึ่งมีพี่น้องด้วยกัน ๒ คนน้องนลินเป็นคนเล็ก จะมีการฌาปนกิจศพในวันที่ ๒๔ ตุลาคมนี้ ช่วงเวลา ๑๓.๐๐ น.เป็นต้นไป ซึ่งมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นมาเป็นประธาน ในส่วนการชดเชยความเสียหายเบื้องต้นทางบริษัทประกันได้จ่ายค่าปลงศพและจะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายรวมเป็นเงิน ๖๕๐,๐๐๐ บาท อีกทั้งทางบริษัทรถยนต์มีการช่วยเหลือทำบุญในงานศพ
ทางด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น กล่าวว่าตนทราบข่าวกรณีอุบัติเหตุในครั้งนี้จากสื่อต่างๆในช่วงเกิดเหตุ มีภารกิจจึงไม่ได้ลงพื้นที่เกิดเหตุทางทีมงานได้แจ้งสิทธิไปยังผู้ประสบอุบัติเหตุไปแล้วว่าเขาควรจะได้รับสิทธิอะไรบ้าง ทางสมาคมฯ เราติดตาม เฝ้าระวังอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในภาคอีสานเพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะดีขึ้นมากกว่านี้ รถสายที่เกิดเหตุเป็นผู้ได้รับสัมปทานเส้นทางขอนแก่น-มหาสารคาม ผู้โดยสารที่ใช้บริการมากที่สุดจะเป็นนักศึกษาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามและมีการเกิดเหตุอยู่เป็นระยะ จึงเรียกร้องไปทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นสำนักงานขนส่งจังหวัด ควรที่จะมีมาตรการหาการป้องกันร่วมกันทั้งองค์กรผู้บริโภค–ผู้ประกอบการ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ อันเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา ก่อนที่จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารมากไปกว่านี้