ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีการเกษตรต้องได้รับการชดเชยเยียวยา

         pic11116107

          วันเสาร์ ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับทนายความเพื่อผู้บริโภค ,สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานโดยนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูสำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบในการเรียกร้องให้ผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามสิทธิ โดยได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) หนองเรือ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภูและ รพ.สต พนาวัลย์ ต.ดงสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู

          ซึ่งในช่วงเช้าทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต) หนองเรือ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เป็นพื้นที่รองรับน้ำจาก จ.เลย ได้นัดหมายผู้ได้รับผลกระทบจำนวน ๔ ราย รายที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดไม่ได้ใช้สารเคมีแต่พื้นที่นาข้างเคียงใช้ มีแผลที่ขาข้างซ้ายลุกลามเป็นเนื้อเน่าหมอต้องเอาหนังกำพร้ามาปิดแผลปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการพักฟื้นอาศัยไม้ค้ำในการพยุงเดิน , รายที่สองลงหนองน้ำเพื่อเก็บผักบุ้งมาทำอาหารต่อมาเป็นตุ่มคันที่เท้าข้างขวาลุกลามเนื้อเน่า ปัจจุบันอยู่ในช่วงการรักษา , รายที่สามทำนา พื้นที่ข้างเคียงใช้สารเคมีเริ่มแรกเป็นแผลที่ขาซ้ายบนเน่าหมอต้องเอาเนื้อเน่าออกรักษาตัวเป็นสองเดือน ปัจจุบันหายเป็นปกติและรายที่สี่พื้นที่ข้างเคียงใช้สารเคมีตนได้รับผลกระทบเริ่มแรกจากการเป็นตุ่มเนื้อเน่าข้างในบริเวณหัวนิ้วเท้าข้างขวาและหลังมือข้างขวา ปัจจุบันหายเป็นปกติ

          ช่วงบ่ายทีมคณะทำงานเดินทางไปที่สถานีอนามัยบ้านพนาวัลย์ ต.ดงสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู ผู้แทน อสม. พาไปสัมภาษณ์รายที่หนึ่งเป็นผู้หญิงมีอาชีพทำนา ทำสวนยางช่วยสามีฉีดยากำจัดวัชพืชซื้อจากตลาดกุดดินจี่ เป็นแผลที่ฝ่าเท้าข้างขวาเนื้อเน่าข้างในใช้เวลาในการรักษาสามเดือน ปัจจุบันหายเป็นปกติ ,รายที่สองฉีดยาฆ่าหญ้าเริ่มจากการเป็นตุ่มที่ขาข้างซ้ายเนื้อเน่าข้างใน ผ่าตัดสามครั้งหมอเอาหนังกำพร้ามาปิด ปัจจุบันยังเดินเป็นปกติไม่ได้ , รายที่สามใช้สารเคมีการเกษตรฆ่าหญ้าเป็นแผลที่เท้าข้างขวาเนื้อเน่าเปื่อยข้างในใช้เวลารักษาสามเดือนปัจจุบันหายเป็นปกติ

          ทางด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่าวันนี้ได้ลงพื้นที่และเห็นภาพความเสียหายของเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีการเกษตรในพื้นที่แรกเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ใช้โดยตรงแต่เป็นแหล่งรวมรับน้ำที่มีสารเคมีทางการเกษตรจากหลายพื้นที่ไหลมารวมกันทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบส่วนอีกพื้นที่เป็นพื้นที่ปลูกอ้อยและยางพารา ซึ่งมีการใช้สารเคมีทางการเกษตรในการกำจัดวัชพืชได้รับผลกระทบโดยตรง ข้อมูลจากฝ่ายส่งเสริมการวิจัยท้องถิ่น จ.หนองบัวลำภู พบว่า อ.สุวรรณคูหามีการใช้พาราควอตมากกว่า ๓ แสนลิตรต่อปี ทั้งจังหวัดใช้ ๘ แสนลิตรต่อปี พบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ ไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๒๐ คนเกือบร้อยละ ๑๐ ของผู้ป่วยจะพิการและเสียชีวิต ข้อมูลอีกส่วนระบุว่าส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหาคือการที่ภาครัฐส่งเสริมการปลูกอ้อย ในส่วนของตนที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคหลังจากที่เก็บข้อมูลวันนี้จะได้มีการนำมาพิจารณากับเครือข่ายทนาย นักวิชาการและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเหมือนกับคดีที่เกตษรกร ผู้บริโภคฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทสารเคมีตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ต่อไป

 

   

Tags: เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน

พิมพ์ อีเมล