ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบอะฟลาท็อกซิน สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว 11 ตัวอย่างมีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 1 ตัวอย่างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า แนะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วมีมาตรฐาน GMP เนื่องจากมีข้อบังคับใช้ ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบแปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภค
วันที่ 3 มีนาคม 2565 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก (สสส.) ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์เนยถั่วจำนวน 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน เนื่องจากสารอะฟลาท็อกซินโดยปกติเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราและสามารถปนเปื้อนได้ในเนยถั่ว หากร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณมากอาจเสี่ยงเกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้
จากผลทดสอบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินจากผลิตภัณฑ์เนยถั่ว นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า พบ 1 ตัวอย่าง ที่มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด ได้แก่ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด พบว่ามีสารอะฟลาท็อกซินถึง 65.87 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามที่ประกาศของทางกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 กำหนดให้มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินทั้งหมด (B1+B2+G1+G2) ในอาหารสูงสุดไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และพบอีก 11 ตัวอย่าง มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนด้วยเช่นกัน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยคิดเป็นพบอะฟลาท็อกซิน 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี้ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบ, ครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ ส่วนอีก 10 ตัวอย่าง ไม่พบสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามเมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ มีราคาถูกที่สุดคือ 0.26 บาท และ ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท ราคาแพงที่สุดคือ 1.05 บาท
ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชัน (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชันสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย
สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ อะฟลาท็อกซิน (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ
ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 แคลอรี่ เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์
ทั้งนี้ นิตยสารฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP เนื่องจากจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่นำไปใช้แปรรูป และอะฟลาท็อกซินแม้พบในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณอะฟลาท็อกซินที่พบนั้น หากเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด นอกจากนี้ ฉลาดซื้อยังแนะอีกว่า การทำเนยถั่วกินเองช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซิน เพราะผู้บริโภคมีโอกาสการเลือกวัตถุดิบที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง
อ่านบทความผลทดสอบ “อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว” ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3942