วันนี้ (22 ธันวาคม 2564) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2564 ตั้งแต่ 1 มกราคม – 15 ธันวาคม 2564 โดยที่ผ่านมา มพบ. ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ทั้งหมด 3,321 ราย ซึ่งได้แบ่งปัญหาของผู้บริโภคออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข
ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งของปี 2564 คือ ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 1,816 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 55 รองลงมา คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 22 และอันดับที่ 3 คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 400 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 12
สำหรับปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม (1,816 เรื่อง) ที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากที่สุด ถึงร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่พบจากการได้รับข้อความ SMS และโทรศัพท์ก่อกวน ที่มีเนื้อหาหลอกลวงให้ใช้บริการแอปฯ กู้เงิน ผิดกฎหมาย และเว็บพนัน รวมถึงเนื้อหาอนาจาร ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเสียทรัพย์สินได้ เบื้องต้นทาง กสทช.สั่งค่ายโทรศัพท์มือถือบล็อกข้อความแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม (อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : https://consumerthai.org/consumers-news/ffc-news/4640-ffc-nbtc04-10-64.html) นอกจากนี้ยังพบปัญหาเก็บค่าบริการโดยที่ไม่ได้สมัคร พนักงานขายโปรโดยไม่ได้รับความยินยอม และตัดค่าบริการ
ส่วนปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน (740 เรื่อง) พบปัญหาเรื่องแอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย มีผู้ร้องเรียนเข้ามา 82 ราย โดยร้องเรียนมากขึ้นในเดือนตุลาคม ลักษณะของแอปฯ กู้เงิน คือ ต้องจ่ายเงินก่อนกู้ หรือ มีดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องชำระคืนภายใน 6-7 วัน ถ้าลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ครบหรือไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้จะโทรหาทุกคนที่มีรายชื่อในโทรศัพท์ ส่วนประกันโควิดก็เป็นปัญหาที่มีผู้เสียหายมากและเป็นประเด็นในสังคม คือ การจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ล่าช้าเกินกว่า 15 วัน ขัดกับคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และยังพบปัญหามิจฉาชีพหลอกให้ผู้บริโภคต่อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์แต่ไม่ได้รับกรมธรรม์ มีผู้เสียหายที่มาร้องเรียน 14 คน แอบอ้างเป็นบริษัทประกันโทรมาแจ้ง เรื่องอู่รถยนต์ที่อยู่ในเครือบริษัทประกันไม่ครอบคลุมกับอู่ใกล้บ้าน ทำให้ต้องไปซ่อมที่ไกลๆ ทำให้ต้องยินยอมต่อกรมธรรม์ นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องหนี้ยังพบเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต และยังคงพบหนี้ธุรกิจเช่าซื้อ หนี้นอกระบบ และสินเชื่อ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป (400 เรื่อง) ผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาพบปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด จำนวน 76 เรื่อง รองลงมา คือ มีปัญหาการขอเงินคืน ไม่พอใจบริการ การโฆษณาเกินจริง ซึ่งเป็นปัญหาเกิดจากการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ เมื่อจัดส่งสินค้ามาให้พบว่าสินค้าชำรุด และไม่ตรงปก ดังนั้น ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ควรต้องเป็นผู้แก้ไขจัดการร้านค้าออนไลน์ที่พบปัญหา นอกจากนี้ ยังพบปัญหาผู้ร้องเรียนถูกหลอกใช้บัตรประชาชนซื้อโทรศัพท์ ชุดตรวจ ATK ไม่มีเลขทะเบียนและไม่มีใบอนุญาต และไรเดอร์ยกเลิกออเดอร์
จากประเด็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนข้างต้น มพบ. และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยแจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค เช่น กรณีผู้บริโภคได้รับข้อความ SMS ก่อกวนนั้น มพบ.ได้เข้าพบกับรองเลขาฯ กสทช. ติดตามความคืบหน้าและยื่นข้อเสนอให้ 1. เปิดเผยคำสั่งของ กสทช. ที่กำหนดให้ค่ายมือถือแก้ไขปัญหา SMS 2. ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียน 1,000 บาท/ข้อความ 3. ลงโทษตามกฎหมายสูงสุดกับผู้ประกอบการ เช่นเดียวกับกรณีบริษัทประกันโควิดจ่ายค่าสินไหมล่าช้า มพบ.พาผู้เสียหายเข้าพบ คปภ. โดยยื่นเสนอให้ 1. เร่งรัดบริษัทจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ซื้อประกันทุกรายทันที 2. ตรวจสอบและลงโทษบริษัทประกันที่ประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหม 3. พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทประกันรับเอกสารเคลมค่าสินไหมผ่านช่องทางออนไลน์ ส่วนในประเด็นปัญหาแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย มพบ. ก็ได้เสนอให้ 1. ธปท.ควรจะให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาต โดยทำเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ 2. เสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กวาดล้างหรือระงับไม่ให้เปิดแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมายทั้งหมด
ส่วนปัญหาการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ มพบ. สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค ได้ประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 21 ข้อ ร่วมกัน 19 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ สร้างความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิทัล และติดตามผู้ให้บริการตลาดออนไลน์และหน่วยงานให้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ทั้งนี้ จากปัญหาผู้บริโภคที่พบทั้งหมด ภาครัฐจะต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และหน่วยงานรัฐควรบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อลดช่องว่างในการส่งต่อ และมีฐานข้อมูลกลางที่สามารถตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ หรือมิจฉาชีพเพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทุกฝ่ายจะต้องแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องมีแหล่งข้อมูลผู้ประกอบการที่ดีเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจเช็คข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยเร็วที่สุด