ผู้บริโภคยังพบปัญหา เข้ามาร้องเรียน SMS ก่อกวน กว่า 1,000 ราย หลังจาก กสทช. ออกคำสั่งให้ค่ายมือถือบล็อก SMS เนื้อหาหลอกลวง เว็บพนัน หรืออนาจาร โดยพบผู้ใช้บริการค่ายมือถือ AIS ร้องเรียนมากที่สุด มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอให้ค่ายมือถือจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ร้องเรียน 1,000 บาท/ข้อความ ด้าน กสทช. แจงให้ความสำคัญและแก้ไขอย่างจริงจัง พร้อมยื่นข้อเสนอกับผอ.กสทช.
ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหา SMS และโทรศัพท์ เว็บพนัน สินเชื่อออนไลน์ ก่อกวน จึงเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เอาผิดค่ายมือถือ แต่หลังจากที่ กสทช. ออกคำสั่งให้ค่ายมือถือบล็อก SMS เนื้อหาหลอกลวง เว็บพนัน หรืออนาจาร ผู้บริโภคยังคงพบปัญหา และเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ กว่า 1,000 ราย โดยมูลนิธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลผู้ร้องเรียน พร้อมสรุปจำนวนแยกตามเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ และแยกประเด็นปัญหาของ SMS ได้ดังต่อไปนี้
เครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ร้องเรียนมากที่สุด อันดับ 1 คือ AIS จำนวน 460 ราย รองลงมา อันดับ 2 คือ True จำนวน 353 ราย อันดับ 3 คือ DTAC จำนวน 165 ราย อันดับ 4 คือ Finn mobile จำนวน 5 ราย และ อันดับ 5 คือ My by cat จำนวน 5 ราย ส่วนประเด็นประเด็นปัญหาที่พบมากที่สุด อันดับ 1 คือ SMS สินเชื่อ/กู้เงินออนไลน์ จำนวน 363 ราย รองลงมา อันดับ 2 คือ เจอหลายรูปแบบ จำนวน 256 ราย อันดับ 3 คือ SMS พนันออนไลน์ จำนวน 148 ราย อันดับ 4 คือ SMS รบกวน จำนวน 147 ราย อันดับ 5 คือ โทรศัพท์ให้กู้เงิน จำนวน 32 ราย อันดับ 6 คือ SMS หลอกหลวง/โอนเงินเข้าบัญชี จำนวน 20 ราย
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ปัญหาการส่ง SMS หรือการโทรศัพท์นั้น พบมากกว่า 1 ครั้งต่อวัน และมาในเวลากลางคืน ถึงแม้ผู้ร้องเรียนบางคนขอยกเลิก SMS กับทางบริษัทผู้ให้บริการ หรือด้วยวิธีการ กด *137 แล้ว แต่ยังคงพบปัญหาการส่ง SMS ในลักษณะดังกล่าว อีกทั้งหากผู้สูงอายุที่ไม่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีหรือเด็กที่ใช้โทรศัพท์เรียนออนไลน์อาจถูกหลอกให้กดลิงก์และหลงเป็นเหยื่อมิจฉาชีพได้ง่าย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้เนื่องจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยังไม่ได้แก้ไขปัญหาตามที่ กสทช. ประกาศ มูลนิธิฯ จึงดำเนินการรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหาย เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของกสทช. ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้มีการเปิดเผยคำสั่งของ กสทช. ที่กำหนดให้เครือข่ายโทรศัพท์มือถือและผู้ที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหา SMS และโทรศัพท์รบกวน 2. ขอเสนอให้พิจารณาออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนที่ยังได้รับข้อความ และ/หรือ โทรศัพท์รบกวนในลักษณะดังกล่าว จำนวน 1,000 บาท/ข้อความ 3. ขอให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมายสูงสุดกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมและผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่ยังปล่อยให้มีการส่งข้อความ SMS หรือโทรศัพท์ รบกวน
ด้านนายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานโทรคมนาคม กล่าวว่า กสทช. กำลังดำเนินการตามขั้นตอน ได้ประชุมอย่างต่อเนื่องกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น แบงก์ชาติในเรื่องของสินเชื่อ ตรวจสอบข้อความว่าจริงหรือเท็จอย่างไร และขอให้เชื่อว่า กสทช. ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ โดยติดตามและปิด SMS มิจฉาชีพต่างๆ อย่างจริงจัง ที่ผ่านมาก็ปิดได้หลายบัญชีแล้ว มีมาตรการแม้กระทั่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือต้องทำอย่างไรต่อ อย่างที่มูลนิธิฯ ได้เสนอมา และจะนำข้อเสนอยื่นกับทางผู้อำนวยการเพื่อให้รับทราบและแก้ไขป้องกัน แล้วก็ขอบคุณที่เป็นช่องทางรับเรื่อง นอกจากช่องทางของ กทสช. เป็นความร่วมมือและเป็นสิ่งที่ดีที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา
หลังจากนี้ มูลนิธิฯ ขอให้ผู้บริโภค ช่วยกันตรวจสอบการแก้ไขปัญหาของค่ายมือถือ โดยช่วยกันดูว่ายังมีข้อความ SMS หรือโทรศัพท์รบกวน เข้ามาอีกหรือไม่ หากมีให้แจ้งข้อมูลได้ที่ (กดลิงก์) แบบฟอร์ม แจ้งปัญหา SMS และโทรศัพท์ รบกวน https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSfh9kmR1KCiH8AWvcDjdR1-9TwvXvCrj2qiBG0iKbSulkHWPg/viewform?fbclid=IwAR12qT4z4ixV4vfX38zfIeDqRHzzN-JcL0yKJdhvu8X751Zfrpu-gYNbx0g หรือติดต่อ ไลน์แอด @Consumerthai