มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ผู้ซื้อคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก มีสิทธิ์ขอคืนเงิน กรณีศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ เหตุผิดพรบ.ควบคุมอาคาร เตือนผู้บริโภคควรตรวจสอบคอนโดฯ ก่อนซื้อ

คอนโดแอชตัน อโศก 03 01

           จากกรณีที่ ศาลปกครองกลางพิพากษา สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทย่อยของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) เนื่องจากโครงการก่อสร้างและดัดแปลงอาคารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทำให้ผู้ซื้อคอนโดฯ แอชตัน อโศก ได้รับผลกระทบอย่างมาก

            นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า น่าจะเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของรัฐตีความขยายตัวบทกฎหมายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นเหตุให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง และอาคารมีความเสี่ยงที่จะถูกรื้อถอนได้ กรณีนี้ถือว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคซื้อห้องแล้วอยู่อาศัยไม่ได้ตลอดไปตามวัตถุประสงค์ที่ซื้อ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนมีสิทธิ์ยกเลิกสัญญา และขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งทางมูลนิธิฯ จะช่วยเหลือในเรื่องของการดำเนินคดีกับบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากอาคารผิดกฎหมาย เกิดจากรัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้น ปล่อยให้ผู้ประกอบการสร้างอาคารที่ผิดกฎหมาย เมื่อเปิดใช้อาคารแล้ว และศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ ผู้เสียหายจากการที่จะรื้อถอนอาคารนั้น คือ ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นคนที่ควรออกมารับผิดชอบ คือ ผู้ประกอบการต่อความเสียหายทุกกรณี
           “จากกรณีโรงแรมดิเอทัส ซอยร่วมฤดี เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าเป็นอาคารที่ขัดต่อกฎหมาย สุดท้ายศาลปกครองสูงสุด ก็สั่งให้รื้อถอน แล้วกรณีคอนโด แอชตัน เมื่อถึงเวลานั้น ก็จะเป็นผู้บริโภคที่เสียหายต้องออกมาเรียกร้องสิทธิ์ให้ตัวเอง” นางนฤมลกล่าว

           รองผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิฯ ต้องการเตือนคนที่กำลังจะซื้อคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่พิเศษควรจะตรวจสอบให้ดี เช่น การตรวจสอบข้อมูลของบริษัท การตรวจสอบข้อมูลการขออนุญาตของผู้ประกอบการ เป็นต้น เพราะอาจพบปัญหา เช่น อาจจะไม่ได้ห้อง เพราะคอนโดไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างซื้อแล้ว หรือ อาจจะถูกรื้อถอน เพราะเป็นการก่อสร้างที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่พิเศษในกรุงเทพฯ อาจจะมีการสร้างแบบผิดกฎหมายและถูกร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้ถูกระงับการสร้างชั่วคราวในระหว่างตรวจสอบ ทำให้มีการสร้างต่อไปเรื่อยๆ จนเปิดใช้อาคาร สุดท้ายศาลสั่งเพิกถอน คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือผู้บริโภค

           ทั้งนี้ทางมูลนิธิยินดีช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อตึกหรืออาคารขนาดใหญ่ในการเรียกร้องกับผู้ประกอบการ ติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ผู้บริโภคที่มีปัญหาสามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตามรายละเอียด ดังนี้
           1. แจ้งชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรที่สามารถติดต่อได้
           2. เอกสารซื้อขายคอนโด
           3. เอกสารใบเสร็จรับเงิน
           4. เอกสารการเป็นเจ้าของห้องชุด (ในกรณีที่โอนกรรมสิทธิ์แล้ว)


ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 084-6524607, 089-7889152 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. หรือช่องทาง inbox FB เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ร้องเรียนออนไลน์เว็บไซต์ www.consumerthai.org

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ซื้อคอนโด, ashton , คอนโดแอชตัน

พิมพ์ อีเมล