มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ยืนยันใช้ห้องทดลองได้รับการรับรองในการตรวจ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ยืนยันใช้ห้องทดลองได้รับการรับรองในการตรวจ เหตุไม่เปิดชื่อเพราะห้องทดลองถูกกดดันมากและต่อไปอาจไม่มีห้องทดลองรับตรวจให้ในอนาคต พร้อมยินดีและขอนัดพบนายกเพื่อเสนอกลไกคุ้มครองผู้บริโภค

 

 

หลังจากการแถลงผลการตรวจข้าวสารถุงของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถี เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย อธิบดี ผู้บริหารระดับสูง และผู้เกี่ยวข้องมากมาย ออกมาตั้งคำถาม กล่าวหา และเบี่ยงเบนสาระสำคัญของปัญหาข้าว  ทั้งๆที่ควรมาช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ช่วยกันคุ้มครองผู้บริโภคและพัฒนาคุณภาพข้าวในประเทศไทย

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและความั่นคงด้านอาหารของทั้งสององค์กรมาเกือบ ๓๐ ปี มีหลักในการทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งเสมอ เราทำงานร่วมกับภาครัฐ ประชาชนและภาคเอกชนมาโดยตลอด ทำงานด้วยหลักวิชาการ เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ คำกล่าวหาของนายยรรยง พวงราช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวง ที่ว่า “ตรวจหลังบ้าน” เป็นเรื่องที่ดูถูกดูแคลนองค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิทั้งสอง ยอมรับไม่ได้ เพราะศูนย์ทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ตรวจสอบคุณภาพของสินค้าทุกเดือน และโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ไม่ว่าจะขนมปังที่ผสมยากันบูดเกินมาตรฐาน ซึ่งก็พบด้วยว่า ในท้องตลาดมีขนมปังที่ไม่มียากันบูด  สารเคมีเกินมาตรฐานในผัก หรือแม้แต่การตรวจความหอมของข้าวหอมมะลิ จนนำมาซึ่งตรารับรองเทพนมของกระทรวงพาณิชย์

ทุกครั้งของการเปิดเผยข้อมูลต้องผ่านห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐานเท่านั้น และมีนักวิชาการมืออาชีพด้านต่างๆที่ ได้สนับสนุนการทำงานมาโดยตลอด และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามาอย่างต่อเนื่อง

 

การตรวจข้าวสารบรรจุถุงครั้งนี้ ข้าวสารถุงทั้งหมดถูกส่งตรวจ ไปตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายน ในเวลาใกล้เคียงกับที่หน่วยงานภาครัฐส่งตรวจ แต่ต่างก็ออกมาแจ้งกับประชาชนว่า ไม่มีสารเคมีตกค้างเกินมาตรฐาน จนกระทั่งการแถลงข่าวผลการตรวจสอบของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิชีววิถีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก็ได้รับการยืนยันจาก อย.ว่า มีบางยี่ห้อ ตกค้างเกินมาตรฐานจริง

ถึงเวลาที่สิทธิของผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการได้รับข้อมูลข้อเท็จจริง สิทธิในการเลือกซื้อ สิทธิในการได้รับความปลอดภัย ประชาชนไทยที่ถูกละเลยและไม่เคยให้ความสำคัญมาเป็นเวลานาน ต้องได้รับการคุ้มครอง

 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีข้อเสนอและการพยายามผลักดันให้ข้าวสารถุงมีตรารับรองของ อย. นี่ไม่ใช่ทางออก เพราะข้าวสารเป็นสินค้าทั่วไป การมีตรา อย.ไม่ได้รับประกันว่าข้าวสารไม่มีสารเคมีตกค้าง และอาจจะทำให้บริษัทขนาดเล็ก ผู้ผลิตรายย่อย ที่ดำเนินการได้มาตรฐานประสบปัญหา แต่การสุ่มตรวจอย่างมีระบบ เปิดเผย โปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายต่างหาก เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และ สนับสนุนผู้ผลิตที่มีมาตรฐานที่แท้จริง

 

นอกจากนี้ ข้อแนะนำให้ประชาชนดูแลชีวิตของตนเอง  ด้วยการ “ล้างข้าว” สารเหล่านี้ก็จะหายไป เป็นข้อเสนอที่ไม่เพียงพอ แต่ทุกภาคส่วนต้องมุ่งมั่นดูแลประชาชนด้วยการทำให้ข้าวที่บริโภคในประเทศดีเท่าระดับการส่งออก ลดการใช้สารเคมีอย่างเป็นระบบ ยิ่งกว่านั้น การใช้สารเคมีต้องไม่ตกค้างเกินมาตรฐาน และควรเป็นโอกาสเพิกถอนยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารเคมีที่เป็นอันตราย หรือแม้แต่เมธิลโบรไมด์ที่เป็นอันตรายชัดเจนต่อสภาวะแวดล้อม ซึ่งประเทศไทยได้ตกลงยกเลิกการใช้ในปี 2557  หรือปรับปรุงสารเคมีตกค้าง เพื่อมาตรฐานปลอดภัยของการปนเปื้อนสารเคมีของไทย อย่างน้อยให้มีความใกล้เคียงกับประเทศคู่ค้า เช่น จีน

 

วันศุกร์นี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมูลนิธิชีววิถี จะร่วมประชุมกับผู้ประกอบการและสมาคมผู้ค้าข้าวถุง เพื่อพัฒนาคุณภาพข้าวสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ มูลนิธิทั้งสองยินดีที่ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เอ่ยปากชวนให้ไปพบ “มีอะไรให้ไปพบ”  เราจึงขอรับเกียรตินี้ ขอเข้าพบ ท่านนายกฯ เพื่อเสนอกลไกสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศ ขณะนี้กำลังติดต่อประสานงานกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สุรนันท์ เวชชาชีวะ

 

หากจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การตรวจสอบสินค้าและรายงานประชาชนนี้ มูลนิธิฯทั้งสองคงไม่จำเป็นต้องทำมาก หากประเทศไทยมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

 

พิมพ์ อีเมล