นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการทดสอบสารปนเปื้อนในอาหาร ของฝาก-ของดี 4 ประเภท จากภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ พบปริมาณวัตถุกันเสียเกินเกณฑ์ ส่วนของฝากจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบการปนเปื้อนของโลหะหนักแต่ไม่เกินมาตรฐาน
เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2561 ณ ห้องประชุม 2 สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ร่วมมือกับเครือข่ายผู้บริโภคสี่ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ จัดงานแถลงข่าวผลทดสอบ “ผลิตภัณฑ์ของฝาก – ของดีจาก 4 ภาค ได้แก่ น้ำพริกหนุ่ม น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ แกงไตปลาแห้ง และโรตีสายไหม”
ผลการทดสอบแผ่นแป้งโรตีสายไหมจากจ.พระนครศรีอยุธยา จำนวน 10 ตัวอย่าง มีการตกค้างของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกทั้งหมด โดย 6 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 กำหนดไว้ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. คือ ร้านอาบีดีน+ประนอม แสงอรุณ, ร้านวริศรา โรตีสายไหม, ร้านโรตีสายไหมบังแป๊ะ, ร้านโรตีสายไหมไคโร น้องชายบังอิมรอน, ร้านจ๊ะโอ๋ และร้านประวีร์วัณณ์ แต่อีก 4 ตัวอย่างมีกรดเบนโซอิกตกค้างเกินมาตรฐาน คือ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอารุณ เจ้าเก่า, ร้านแม่ชูศรี, ร้านเรือนไทย และร้านเอกชัย (B.AEK) สำหรับผลการทดสอบสีสังเคราะห์ในสายไหมพบทุกตัวอย่างใช้สีสังเคราะห์แต่ไม่เกินมาตรฐาน
ส่วนผลการทดสอบน้ำพริกหนุ่มจากภาคเหนือ จำนวน 10 ตัวอย่าง จาก จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่และจ.แพร่ พบว่า ทุกตัวอย่างมีสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้าง โดย 6 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารสากล (โคเด็กซ์) กำหนดไว้ คือ เรือนไทยขนมไทย, อำพัน, น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว, ดำรงค์, นันทวัน (เจียงฮาย สูตรดั้งเดิม) และเจ๊หงษ์ (เชียงใหม่) แต่น้ำพริกหนุ่มอีก 4 ยี่ห้อ พบปริมาณกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่มาตรฐานดังกล่าวกำหนดไว้ ได้แก่ แม่ถนอม, ป้านวย, ศุภลักษณ์ (รสเผ็ดมาก) และน้ำพริกมารศรี (สูตรดั้งเดิม)
ขณะที่ผลการทดสอบตัวอย่างแกงไตปลาแห้งจากภาคใต้ ที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ จากจ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ จ.สงขลา และจ.ปัตตานี มี 3 ยี่ห้อ ที่ไม่พบสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้าง คือ คุณแม่จู้, วังรายา และวิน (Win) ส่วนอีก 2 ยี่ห้อ พบกรดเบนโซอิกตกค้างแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ คือ แม่รุ่ง และเจ๊น้อง และมี 4 ยี่ห้อที่พบสารกันบูด (กรดเบนโซอิก) ตกค้างเกินเกณฑ์ดังกล่าว คือ ชนิดา (CHANIDA), RICHMe by lalita, จันทร์เสวย และแม่จิตร ขณะที่ร้านป้าสุ พบทั้งกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกเกินมาตรฐาน
นอกจากนี้ ผลการทดสอบโลหะหนัก ตะกั่ว และแคดเมียมในน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จจากภาคอีสาน จำนวน 12 ตัวอย่าง จากพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์และจ.อุบลราชธานี พบว่า ร้านน้องพร ไม่พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียมและตะกั่ว ส่วนที่เหลืออีก 11 ตัวอย่าง ได้แก่ น้ำปลาร้าปรุงสุก 100% ตราแซ่บไมค์ โดยไมค์ ภิรมย์พร (น้ำปลาร้าสูตรส้มตำ), น้ำปลาร้าต้นตำรับกาฬสินธุ์ ตราแม่ฝาย, น้ำปลาร้าส้มตำ แม่บุญล้ำเจ้าเก่า (สูตรปรุงสำเร็จ), น้ำปลาร้าปรุงสุก ตราแซ่บดี (น้ำปลาร้าสูตรส้มตำ), น้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส ตราแม่หม่อม สูตรดั้งเดิม, น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑, ปลาร้าส้มตำปรุงรส ตราเจ้จุ๋ม, แม่สมัย ปลาร้าส้มตำ, เศรษฐีแซ่บ น้ำปลาร้าต้มปรุงสำเร็จ สูตรเข้มข้น และน้ำปลาร้าปรุงรสต้มสุก ตราภา-ทอง พบว่าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 และสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มผช.1346/2557)
ทั้งนี้ ภก.สันติ โฉมยงค์ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวว่า สารกันเสียหรือกรดเบนโซอิกสามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่หากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากจะส่งผลเสียต่อร่างกาย คือทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
สำหรับผลการทดสอบสารโลหะหนักในน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ มพบ. กล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้ตรวจพบตะกั่วได้ ไม่เกิน 1 มก./กก. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) กำหนดไว้ว่า สารปนเปื้อนแคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก. ซึ่งเกินจากมาตรฐานของโคเด็กซ์ ที่กำหนดให้มีการปนเปื้อนตะกั่วในอาหารไม่เกิน 0.03 มก./กก.
“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคาดหวังว่า การเผยแพร่ผลการทดสอบในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวเรื่องสารปนเปื้อนในอาหาร จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ” นางสาวสารีกล่าว
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://consumerthai.org/news-consumerthai/ffc-news/4161-610404pressconsumers.html
หรือลิ้งก์บทความฉลาดซื้อ : https://bit.ly/2q1XqNY