เครือข่ายพลังงาน หนุนมติ สปช.ให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 แนะใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตแทนระบบสัมปทาน

IMG 4672

วันนี้ (20 ม.ค./ศูนย์บริการประชาชน กทม.) เครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย นำโดย น.ส.บุญยืน ศิริธรม ประธานสหพันองค์กรผู้บริโภค พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการอิสระ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากรมหาวิทยาลัยรังสิต นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และประชาชนกว่า 20 คน ร่วมกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 ตามมติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.). พร้อมเผยรายงานคณะกรรมาธิการด้านพลังานของ สปช. ที่เสนอนายกรัฐมนตรีถูกบิดเบื้อนข้อมูลที่ภาคประชาชนได้นำเสนอ

น.ส.บุญยืน กล่าวถึงข้อเสนอว่า 1.ให้นายกชะลอการเปิดสัมปทานปิโตรีเลียมรอบที่ 21 2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจเพื่อให้ทราบถึงข้อมูลในปริมาณปิโตรเลียมเป็นเบื้องต้นเสียก่อน ก่อนที่จะดำเนินการให้สิทธิในการผลิตแก่เอกชนต่อไป 3.ให้ปฏิรูประบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ด้วยการสั่งการให้มีการศึกษาที่เป็นอิสระ ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อออกกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ใช้ระบบการให้สิทธิและสำรวจปิโตรเลียมด้วยระบบอื่นที่มิใช่ระบบสัมปทาน เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต เป็นต้น โดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมเป็นสำคัญ

ด้าน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เผยรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงาน สปช. ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีว่า มีการบิดเบื้อนข้อมูล ไม่ปรากฏข้อเสียของระบบสัมปทานไทย เช่น ขัดวัตถุประสงค์ของความมั่นคงทางด้านพลังงาน เพราะยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมของชาติให้กับเอกชน แล้วเอกชนก็นำมาขายให้รัฐในราคาตลาดโลก รัฐไม่มีระบบสำรวจทรัพยกรเสียก่อน ทำให้มีข้อมูลน้อย มีความเสี่ยงสูง เอกชนรายเก่าได้เปรียบเอกชนรายใหม่ รัฐเป็นผู้ร่วมรับความเสี่ยงผ่านระบบการเสียภาษี และยังเป็นการกีดกันแหล่งพัฒนาปิโตรเลียมที่มีขนาดเล็ก ฯลฯ และไม่ปรากฏข้อดีของระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี

นายอิฐบูรณ์ กล่าวเสริมว่า แม้ตอนนี้จะมีการบิดเบื้อนข้อมูลอยู่ว่ากฎหมายสัมปทาน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 กำหนดไว้ว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ แต่เมื่อให้สัมปทานไปแล้วปิโตรเลียมทั้งหมดล้วนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทผู้รับสัมปทานทั้งสิ้น ซึ่งในระยะจะหมดสัญญาสัมปทานอีก 7-8 ปี เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะเดินหน้าสู่การปฏิรูปการผลิตและการสำรวจปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบอื่นๆ อาทิเช่นระบบแบ่งปันผลผลิตซึ่งเป็นระบบที่ประเทศเพื่อนบ้าน (ยกเว้นสิงคโปร์) ใช้กันอยู่ในขณะนี้

นายปานเทพ กล่าวทิ้งทายว่า “ถ้านายกตัดสินใจเดินหน้าสัมปทานก็เท่ากับว่านายกตระบัดสัตย์ต่อคำพูดของตัวเอง ไม่ฟังเสียงประชาชนถือเป็นเรื่องใหญ่เพราะเป็นผู้นำประเทศ และในอดีตเอง เคยมีการขับไล่นายกฯ ที่ตระบัดสัตย์มาแล้ว เราไม่อยากให้เหตุการณ์เหล่านั้นซ้ำรอยกับเหตุการณ์ครั้งนั้นอีก ทั้งนี้ จะคำนวณสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป และเชื่อว่าประชาชนไม่อยากเห็นนายกฯ ที่ตระบัดสัตย์ และหากยังดันทุรังต่อไป จะเป็นอันตรายต่อประเทศ”

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :

|

พิมพ์ อีเมล