วางเสาสัญญาณมือถือสร้างความเดือดร้อนหนัก กสทช.รุก 5 ค่ายวางแนวทางจัดตั้งเสาสัญญาณมือถือ

IMG 4750

วันนี้ (26 ม.ค.) คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. จัดเวที “แนวทางการจัดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างสมานฉันท์” ที่สโมสารทหารบก กรุงเทพฯ เพื่อรับฟังแนวทางดำเนินการและปัญหาเกี่ยวกับการใช้ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม มีผู้เข้าร่วมจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้ให้บริการมือถือ และผู้แทนจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เผยปัญหาในพื้นที่ว่า มีเรื่องร้องเรียนและจบในพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก ปัญหาคือบริษัทเข้าทางผู้นำชุมชน ควรมีการวางกติกาให้ชัดเจนทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบ้านไม่เอาแต่จะหาพื้นที่ให้ อีกประเด็นคือในบางพื้นที่มีเสามากขณะที่บางพื้นที่ไม่มีเสา ควรให้มีเสาร่วมกันโดยเร็ว และครอบคลุมทุกสัญญาณ

นายชาคลีย์ ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ เผยว่า เสาไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่คลื่นที่ส่งออกมานั้นอาจจะกระทบต่อเซลล์หรือสสารทำให้เกิดการบิดเบือนได้ ยิ่งมีการปล่อยคลื่นที่มีความเข้มมากก็ยิ่งมีผลกระทบมาก ดังนั้นควรมีการติดตั้งมิเตอร์เพื่อวัดระดับความแรงของคลื่นและออกระเบียบให้ผู้ประกอบารส่งรายงานเข้ากสทช.ทั้งหมด กสทช.ควรแยกผู้อนุญาตและผู้ตรวจสอบออกจากกันอย่างชัดเจน ส่วนโครงสร้างพื้นฐานนั้นให้ทำในระบบ 4G โดยกำหนดไม่ให้เกิน 10 ไมโควัตต์

ด้าน ศ.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ เสนอ 3 แนวทางว่า 1.ควรใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน โดยให้แต่ละผู้ประกอบการเปิดเช่าโครงสร้างพื้นฐานและได้รับการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจาก กสทช. 2.ควรทำวิจัยด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และที่อยู่อาศัยให้ชัดเจนว่าการรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นเวลานาน กำลังส่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและความใกล้กันกับสถานีสัญญาณ โดยวัดเป็นเส้นแรงแม่เหล็กไฟฟ้า ว่ามีผลระยะยาวต่อสุขภาพของมนุษย์และผู้อาศัยที่ใกล้เคียงอย่างไร โดยให้กองทุนฯ เป็นผู้สนับสนุนทุนวิจัยแก่มหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพด้านนี้ 3.จัดตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน โดยมียุทธศาสตร์ในเชิงรุก และสำรวจโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่และพื้นที่ต่างให้จัดทำเป็นสารสนเทศภูมิศาสตร์

ขณะที่ผู้ประกอบการทั้ง 5 ราย ได้แก่ ทรู ดีแทค เอไอเอส ทีโอที และกสท มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ผู้ใช้บริการมีความกังวลเรื่องคลื่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ผ่ามมามีการทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ แต่ขาดคนกลางในการให้ข้อมูล โดยทุกฝ่ายต้องลงพื้นที่จริงๆ และกำหนดกติกาให้ชัดเจน ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานนั้นเห็นด้วยกับการรวมกัน

ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ประธานอนุกรรมการการมีส่วนร่วมของประชาชน กทค. กล่าวสรุปว่า ให้ผู้ประกอบการตั้งหน่วยงานเฉพาะทำหน้าที่สื่อสารข้อมูลเรื่องเสากับชุมชนและให้ชุมชนเป็นผู้ตัดสินใจ พร้อมทั้งให้มีการทำการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยต่อสุขภาพ

 

ที่มา : องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน   26 ม.ค. 58

พิมพ์ อีเมล