เลือกของเล่นเด็กให้ปลอดภัยจากสารพิษ

580105 child
ใกล้จะถึงวันเด็กแห่งชาติกันอีกแล้ว นอกจากสถานที่ต่างๆ จะเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่ เล่นเครื่องเล่น หรือมีของสมนาคุณพิเศษให้กับเด็กๆ แล้ว ผู้ปกครองหลายท่านก็อาจจะใช้โอกาสนี้ในการซื้อของขวัญ ของเล่นให้กับบุตรหลานเช่นเดียวกัน

วันนี้ เราจะมาแนะนำกันว่า วิธีในการเลือกซื้อของเล่นให้บุตรหลานอย่างปลอดภัยจากสารเคมีต่างๆ นั้นควรเลือกซื้ออย่างไร?

 เคล็ดลับในการเลือกของเล่นที่ปลอดภัย
• ซื้อของเล่นยิ่งน้อยชิ้นยิ่งดี โดยเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ
• หลีกเลี่ยงของเล่นที่ราคาถูกมากๆ เพราะมักจะมีสารเคมีที่เป็นอันตรายมากกว่า
• อย่าซื้อของเล่นที่มีสารเคมีรุนแรง กลิ่นน้ำหอมหรือของที่ให้ความรู้สึกไม่สบายเวลาสัมผัส
• สำหรับเด็กเล็ก ขอให้ระวังว่าจะไม่มีชิ้นส่วนเล็กๆ ของของเล่น ที่สามารถดึงออกมา หรือกลืนลงไปได้
• แกะบรรจุภัณฑ์ของเล่นใหม่และทิ้งไว้ภายนอกอาคาร เพื่อให้สารเคมีอันตรายบางส่วนระเหยไป

 

การเลือกซื้อของเล่นประเภทต่างๆ สำหรับเด็ก

         ตุ๊กตา

ตุ๊กตา มีสารเคมีอันตรายได้หลากหลาย เนื่องจากผลิตจากพลาสติก กำมะหยี่และอุปกรณ์ยัดไส้ด้วยเส้นใย ใส่เสื้อผ้าและเครื่องประดับ หรือมีส่วนประกอบที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์  หรืออย่างตุ๊กตาหมี ที่มีขนยาวหรือขนสังเคราะห์ มักจะประกอบไปด้วยสารหน่วงการติดไฟ ที่เป็นพิษและแพ้ได้ง่าย รวมถึงเส้นใยที่เด็กๆ สามารถกลืนได้ 

คำแนะนำ
• ซื้อ ตุ๊กตาผ้าหรือตุ๊กตาที่เป็นธรรมชาติ หรือจากผู้ผลิตที่ไร้สารเคมีที่เป็นพิษ หรือมีฉลากสิ่งแวดล้อม เช่น ฉลาก GS ฉลากเขียว และฉลากสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
• ซักของเล่นและตากให้แห้งก่อนใช้

• หลีกเลี่ยงของเล่นที่ได้ฟรีหรือเป็นของแถมจากการจัดรายการต่างๆ


         ของเล่นไม้

ของ เล่นไม้มีหลากหลายประเภท รวมถึงตัวต่อ บล็อกก่อสร้าง บ้านตุ๊กตา ร้านของเล่นและฟาร์ม เป็นต้น ของเล่นไม้เรียบๆ ที่ไม่ได้ทาสีมักจะปลอดภัย แต่ของเล่นไม้บางอย่างอาจเป็นอันตรายได้ โดย เฉพาะของเล่นไม้ที่มีกาวเป็นส่วนประกอบมีแนวโน้มที่จะมีสารเคมีที่ก่อให้ เกิดมะเร็ง เช่น ฟอร์มาลดีไฮด์ ผู้ปกครองจึงควรระวังสารชักเงา สีที่มีตะกั่ว และสารโลหะหนักอื่นๆ

คำแนะนำ
• ซื้อของเล่นไม้ที่มีส่วนที่ติดกาวให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
• ซื้อของเล่นที่ไม่เคลือบเงาและไม่ทาสีทุกครั้ง ที่เป็นไปได้ และมองหาชิ้นส่วนธรรมชาติ

 

 

พลาสติก
             ของเล่นพลาสติกแบบอ่อน เช่น ของเล่นยางสังเคราะห์ บอลลูน ของเล่นอาบน้ำแบบอ่อน เป็นต้น มีสารพทาเลต (Phathalate) ที่ส่งผลต่อฮอร์โมน ทำให้ของเล่นพลาสติกแบบแข็งปลอดภัยกว่า เพราะไม่ได้ใช้สารพทาเลต อย่างไรก็ตาม ของเล่นพลาสติกอาจจะมีสารโลหะหนัก และสารพิษอื่นๆ ปนเปื้อนแฝงอยู่

คำแนะนำ
• เลือกของเล่นที่เป็นยางธรรมชาติ
• มองหาฉลาก “ปลอดพีวีซี PVC-Free” หรือ “ปลอดสารพทาเลต Phathalate-Free”
• หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นสารเคมีรุนแรง


ตารางสรุปแสดงรายการสารเคมีอันตรายที่พบอยู่ในของเล่นเด็ก

สารเคมีอันตราย ผลกระทบที่อาจเกิดกับสุขภาพ
Lead (ตะกั่ว)** ก่อให้เกิดมะเร็ง ความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลง มีผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง
Bisphenol-A (บิสฟีนอล-เอ) ทำให้ระบบสืบพันธุ์และระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
Brominated Flame Retardants (สารหน่วงกันไฟ) ทำให้พัฒนาการและระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์
Cadmium (แคดเมียม) ก่อให้เกิดมะเร็ง ได้รับพิษจากการสูดดม ความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลง หยุดพัฒนาการทางสมองของเด็ก
Chlorinated paraffins (คลอริเนเตท พาราฟิน) ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน
Chromium (โครเมียม) ก่อให้เกิดมะเร็ง ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ ทำให้เกิดอาการไหม้รุนแรง ความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลง
Formaldehyde (ฟอร์มาลดีไฮด์) ก่อให้เกิดมะเร็ง ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์
Aniline (อนิลีน) เป็นพิษมาก, ก่อให้เกิดมะเร็งและก่อให้เกิดการกลายพันธุ์
Nonylphenol (โนนิลฟีนอล) ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน
Organotin (ออกาโนติน) ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบฮอร์โมนและระบบสืบพันธุ์หยุดทำงาน
Perfluorinated chemicals (เพอฟลูออริเนตเคมิคัล) ก่อให้เกิดมะเร็ง ระบบสืบพันธ์หยุดทำงาน
Phthalates (softeners) พทาเลต (สารทำให้อ่อนตัว) พัฒนาการและระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน ความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลง
Triclosan (ไตรโคลซาน) เป็นพิษมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ระบบฮอร์โมนหยุดทำงาน

**ในกรณีของตะกั่วนั้น
ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ – ๒๕๔๘ CDC และ American Academy of Pediatrics, Committee on Environmental Health พบว่าสารตะกั่วเป็นมลพิษจากสิ่งแวดล้อมที่ก่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงต่อเด็ก หากได้รับปริมาณมากในวัยเด็กจะมีผลโดยตรงต่อระดับสติปัญญา สมองและระบบประสาทอย่างถาวรได้ โดยเฉพาะเด็กในวัย ๕ ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดที่มีการพัฒนาของสมอง อาการเป็นพิษจะเกิดเมื่อมีการสะสมของตะกั่วในร่างกายสูงพอ

สารตะกั่ว จะมีผลเสียต่อสมองและการติดต่อเชื่อมกันของเซลล์ประสาท โดยสารตะกั่วจะไปจับกับเซลล์แทนที่แคลเซียม ทำให้เนื้อสมองบวม ยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาท (Gamma Aminobutyric Acid, GABA) ความดันกะโหลกศีรษะสูง

สารตะกั่วสามารถก่อปัญหาให้แก่ทารกในครรภ์ หากมีสารตะกั่วในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด เด็กที่เกิดมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ การทำงานของสมองจะพัฒนาช้า ปัญญาอ่อน ชัก

ทั้งนี้ หากเราสามารถหาภาวะเสี่ยงของสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมและนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการปรับปรุงแก้ไขสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยต่อสารตะกั่วได้ จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคพิษตะกั่วอย่างถาวรต่อสมองของเด็กได้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีระดับสารตะกั่วในเลือดค่าใดที่ถือว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง และผลของสารตะกั่วที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดอย่างถาวร โดยเฉพาะต่อสมองและระบบประสาท ถึงแม้ว่าจะรักษาโดยการลดหรือกำจัดสารตะกั่วออกจากร่างกายก็ไม่สามารถแก้ไขผลที่เกิดกับสมองและระบบประสาทได้

ดังนั้น นอกจากจะอยากให้ลูกหลานได้สนุกกับของเล่นใหม่ๆ แล้ว อย่าลืมระมัดระวังในการเลือกซื้อของเล่นที่ปลอดจากสารพิษ อันจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกหลานกันด้วยนะคะ

สุขสันต์วันเด็กแห่งชาติค่า

อ้างอิง: นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ ๑๑๕, ๑๒๒ และ ๑๒๔
ภาพประกอบจาก internet

พิมพ์ อีเมล